-หลังสิ้นบัลลังก์มังกร (2) ไท่ผิงเทียนกว๋อ กบฏชาวนาที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีน-


ในหนังสือ 'หลังสิ้นบัลลังก์มังกร ประวัติศาสตร์จีนยุคเปลี่ยนผ่าน' เส้าหยงและหวังไท่เผิงไม่ใช้คำว่า กบฏ แต่ใช้คำว่าขบวนการไท่ผิงเทียนกว๋อ (太平天国) และแสดงออกชัดเจนว่าไม่ยอมรับราชวงศ์ชิง ดังนั้น กบฏไท่ผิงสำหรับผู้เขียนจึงเป็นวีรบุรุษที่พยายามกอบกู้แผ่นดินจีนแต่ไม่สำเร็จและต้องย้ำอีกครั้งว่านี่เป็นประวัติศาสตร์กระแสหลัก
ส่วนผมขอเรียกกบฏไท่ผิง ไม่ได้มีนัยทางการเมืองใดๆ แค่คุ้นเคยกับคำนี้มากกว่า
ไม่น่าเชื่อว่ากบฏชาวนาที่ยิ่งใหญ่และยืดเยื้อที่สุดในประวัติศาสตร์จีนมีจุดเริ่มต้นจากคนคนเดียว หงซิ่วเฉวียน (洪秀全) ชาวอำเภอฮัว มณฑลกวางตุ้ง ชนชั้นชาวนาที่ต้องการถีบตัวขึ้นเป็นข้าราชการ พากเพียรเรียนหนังสือเพื่อสอบจอหงวน ทว่า เขากลับต้องผิดหวังถึง 3 ครั้ง จนถึงกับล้มป่วยตรอมใจ ขณะที่ป่วย เขาฝันว่าตนเองเป็นบุตรชายคนที่ 2 ของพระเจ้า ซึ่งเท่ากับเป็นน้องของพระเยซู หลังจากหายป่วย เขาทำอาชีพเป็นครูที่บ้านเกิดอยู่หลาย กระทั่งปี 1843 จึงตัดสินเดินทางไปสอบจอหงวนที่เมืองกวางเจาอีกครั้ง ผลลัพธ์ยังเป็นเช่นเดิม

สิ่งที่เปลี่ยนไปคือความคับแค้นของหงซิ่วเฉวียนที่มีต่อราชวงศ์ชิง เขาตั้งปณิธานว่าจะล้มล้างการปกครองของราชวงศ์ชิงและจารีตอันคร่ำครึลงให้ได้ อาจบางทีโชคชะตาวางเส้นทางของเขาไว้แล้ว เขาได้อ่านหนังสือเผยแผ่ศาสนาคริสต์ที่ได้รับมาตั้งแต่หลายปีก่อน เนื้อความพูดถึงพระเจ้ามีเพียงหนึ่งเดียวและทุกคนเท่าเทียมกันต่อหน้าพระเจ้า
ผมคิดว่าคำว่า เท่าเทียม น่าจะไม่มีอยู่ในมโนทัศน์ของคนจีนยุคนั้น (หรือในรูปแบบการปกครองแถบเอเชีย) คำนี้จุดประกายความคิดให้หงซิ่วเฉวียนหรือเปล่า ก็ยากเกินคาดเดา เอาเป็นว่าต่อมาเขาเปลี่ยนมาเข้ารีตศาสนาคริสต์ ศึกษาคัมภีร์ไบเบิ้ลทั้งด้วยตนเองและเดินทางไปศึกษากับมิชชั่นนารีที่เมืองกวางเจา เริ่มเผยแผ่ศาสนาคริสต์และความเชื่อของตน แน่นอน มันย่อมมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความฝันของเขาปะปนอย่างเลี่ยงไม่ได้ สมาคมกราบไหว้พระเจ้าของเขาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เมื่อบวกกับความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารบ้านเมืองของราชวงศ์ชิง ภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้น แผนการขั้นตอนต่างๆ ก็สุกงอม
ปี 1850 หงซิ่วเฉวียนรวมสมาชิกสมาคมกราบไหว้พระเจ้าจากทุกแห่งหนที่หมู่บ้านจินเถียนได้ประมาณ 20,000 คน 11 มกราคม 1851 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิด 38 ปีของเขา สมาคมกราบไหว้พระเจ้าจึงประกาศการปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์ชิง เหตุการณ์นี้ถูกเรียกว่า ‘การปฏิวัติจินเถียน’ และไท่ผิงเทียนกว๋อก็ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ
2 ปีต่อมา กบฏไท่ผิงก็สามารถยึดเมืองหนานจิง (南京) หรือนานกิงได้ หงซิ่วเฉวียนตั้งเมืองหลวงของกบฏไท่ผิงที่นี่และเปลี่ยนชื่อเป็นเทียนจิง (天京) ถึงตอนนี้กบฏชาวนาไท่ผิงสามารถยึดเมืองทางใต้ของจีนได้ราบคาบคิดเป็น 1 ใน 3 ของจักรวรรดิจีนในเวลานั้น เดาไม่ยากว่าราชวงศ์ชิงย่อมมองกบฏไท่ผิงเป็นภัยคุกคามขั้นร้ายแรง
การยึดครองพื้นที่จักรวรรดิชิง 1 ใน 3 ไม่ใช่เป้าหมายของหงซิ่วเฉวียน แต่คือการยึดทั้งแผ่นดินจีนและโค่นราชวงศ์ชิงลงจากบัลลังก์เขาส่งหลินเฟิ่งเสียง หลี่ไคฟาง และจี๋เหวินหยวน กับกองทัพ 20,000 นายบุกขึ้นเหนือยาวนานถึง 2 ปี กรำศึกในหลายมณฑล ยึดเมืองและอำเภอได้หลายสิบแห่ง หนังสืออธิบายเพียงความห้าวหาญของหลินเฟิ่งเสียงที่จบลงด้วยความพ่ายแพ้เพราะสู้ตามลำพัง แต่ไม่ได้วิเคราะห์มากนักว่าทำไมกบฏไท่ผิงจึงใช้วิธีการตะลุยขึ้นเหนือด้วยกองทัพ 20,000 นาย ยาวนานถึง 2 ปีโดยไม่หยุดพัก
ขณะที่สายหนึ่งบุกขึ้นเหนือ เพื่อความมั่นคงของเมืองเทียนจิง หงซิ่วเฉวียนยังส่งล่ายฮั่นอิง หูอี่ฮ่วง และเจิงเทียนหย่างบุกไปทางตะวันตก ซึ่งก็ดูจะไปได้สวยงาม หากไม่เกิดเรื่องในกลุ่มชนชั้นนำของกบฏไท่ผิงเสียก่อน
ห้วงยามนั้นเจิงกั๋วฟานก็ได้สร้างกองทัพสมัยใหม่แบบตะวันตกขึ้น มีชื่อว่ากองทัพเซียงจวิน ซึ่งถ้าดูจากหนังสืออีกเล่ม (อ่านที่ -เรื่องราวหลากสีสันในราชวงศ์ชิง จากรุ่งโรจน์สู่ร่วงโรย-) นักวิชาการเห็นว่ากองทัพเซียงจวินเป็นปัจจัยหลักปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กบฏไท่ผิงสิ้นชื่อ ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เน้นจุดนี้
ปี 1856 กลุ่มชนชั้นนำของไท่ผิงเทียนกว๋อแย่งชิงอำนาจกันเอง เกิดจลาจลในเมืองหลวงเทียนจิง สุดท้าย หงซิ่วเฉวียนสามารถจัดการผู้ก่อการกบฏได้ แต่ราคาที่เขาต้องจ่ายไปก็สูงใช่ย่อย นั่นเพราะเขาสูญเสียความไว้เนื้อเชื่อใจคนอื่นๆ จะเชื่อก็เฉพาะแต่ญาติในตระกูลเดียวกันกับตน ทำให้แม่ทัพคนสำคัญอย่างสือต๋าไคที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นอี้หวังภายหลังเหตุจลาจล จำต้องตีตัวออกห่าง นำกำลังพลบุกยึดมณฑลเสฉวน (นึกถึงเล่าปี่ในสามก๊ก) เหตุการณ์นี้จบลงที่สือต๋าไคถูกจับตัวและประหารชีวิตด้วยการเฉือนเนื้อทีละชิ้นๆ จนกว่าจะตาย
หลังการลงนามสนธิสัญญาปักกิ่งกับประเทศต่างๆ ในปี 1860 กบฏไท่ผิงต้องเผชิญปัญหาใหญ่อีกระลอก เมื่อประเทศตะวันตกเลือกยืนข้างราชวงศ์ชิงหรือจะพูดให้ถูกคือยืนข้างผลประโยชน์ของประเทศตน เมื่อราชวงศ์ชิงจับมือกับต่างชาติที่เป็นต่อด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ บวกกับสถานการณ์ของกบฏไท่ผิงที่สั่นคลอนอันเกิดขึ้นในหมู่ผู้นำความพ่ายแพ้ก็อยู่ไม่ไกลแล้ว
1864 เมืองหลวงเทียนจิงของกบฏไท่ผิงที่ถูกกองทัพราชวงศ์ชิงปิดล้อมมาตั้งแต่เดือนมีนาคมจนระส่ำระสายอย่างหนัก 1 มิถุนายน หงซิ่วเฉวียน ผู้แต่งตั้งตนเองเป็นน้องชายของพระเยซูเสียชีวิต ถือเป็นการซ้ำเติมกบฏไท่ผิงอย่างหนักมือ ในที่สุด เดือนกรกฎาคมเมืองเทียนจิงก็ถูกตีแตกพ่าย ทหารไท่ผิงหมื่นกว่านายถูกสังหารทั้งหมด ในหนังสือใช้คำว่า ‘พลีชีพอย่างอาจหาญทั้งหมด’
ถือเป็นการปิดฉากกบฏชาวนาที่ยืดเยื้อและใหญ่โตที่สุดในประวัติศาสตร์จีน
ผมมีข้อสังเกตของตนเองต่อเรื่องนี้ 2 ข้อ
ข้อแรก ความล้มเหลวของกบฏไท่ผิงส่วนหนึ่งมาจากสนิมเนื้อใน เมื่อกลุ่มชนชั้นนำแย่งชิงอำนาจกันเอง ผมไม่รู้หรอกว่าสภาพความฟอนเฟะเทียบเคียงกับราชสำนักชิงได้หรือไม่ แต่มันบอกได้ว่าอำนาจมอมเมามนุษย์ได้เสมอ
ข้อที่ 2 ใครคือกบฏ ใครคือวีรบุรุษ มันขึ้นกับว่าใครคือผู้เขียนประวัติศาสตร์
และต่อจากนี้จะเป็นช่วงที่จีนเริ่มมองออกจากตนเอง ใส่ใจกับความรู้และเทคโนโลยีตะวันตก พัฒนาอุตสหากรรม การทูต และอื่นๆ เกิดเป็นกระแสขบวนการเรียนรู้วิทยาการตะวันตกขึ้น ซึ่งจะเป็นตอนต่อไป

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

-ความรักที่ไม่โรแมนติก "ความรักเป็นทักษะ ไม่ใช่ความรู้สึก"-

-เมื่อเราฆ่ากันในนามศาสนา เราจะไม่ปราณีและออมมือ-

-พุทธจัดในศรีลังกาและการฆ่าในนามของศาสนา-