-หลังสิ้นบัลลังก์มังกร (1) สงครามฝิ่น ความลำพองและขัดฝืนการเปลี่ยนแปลง-


สงครามฝิ่นถือเป็นจุดตัดระหว่างจีนสมัยเก่ากับจีนสมัยใหม่ และเป็นการเริ่มต้นของสังคมกึ่งอาณานิคมกึ่งศักดินาของจีน

ไม่ต่างจากจักรวรรดิอื่นๆ บนโลกที่ต้านฝืนการเปลี่ยนแปลง จักรวรรดิจีนที่เรียกตนเองว่า 中国 หรือเป็นศูนย์กลางของโลกก็เช่นกัน แม้มีประวัติศาสตร์หลายพันปี ทว่า นโยบายปิดประเทศของราชวงศ์ชิงทำให้จักรวรรดิอันใหญ่โตนี้ไม่อาจมองเห็นความเป็นไปของโลกภายนอก กว่าจะรู้ตัวเรือปืนและกองทัพสมัยใหม่ของต่างชาติก็รุกล้ำและยึดครอง เฉือนและแบ่ง ดินแดนไปเป็นจำนวนมาก

'หลังสิ้นบัลลังก์มังกร ประวัติศาสตร์จีนยุคเปลี่ยนผ่าน' เขียนโดย เส้าหย่งและหวังไท่เผิง แปลโดย กำพล ปิยะศิริกุล หนา 559 หน้า และมีขนาดใหญ่กว่าหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คทั่วไป ประกอบด้วย 12 บท ต้องขอเล่าไปทีละบท โดยเริ่มจากสงครามฝิ่น

หลินเจ๋อสวีได้รับราชโองการจากจักรพรรดิเต้ากวงให้รับหน้าที่ปราบฝิ่นและควบคุมกองเรือที่มณฑลกวางตุ้ง 10 เมษายน 1839 หลินเจ๋อสวีทำการยึดฝิ่นที่ ณ เวลานั้นคนจีนติดกันงอมแงม 3 มิถุนายน 1839 เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า การทำลายฝิ่นที่หู่เหมิน ซึ่งกินเวลากว่า 23 วัน ทำลายฝิ่นไป 2.37 ล้านชั่ง

เป็นเหตุให้วันที่ 1 ตุลาคม 1839 รัฐบาลอังกฤษใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างทำสงครามกับจีน เฮนรี จอห์น เทมเพิล พาล์มเมอร์สตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พูดถึงวิธีรับมือกับจีนว่า "อัดเขาไปก่อนหนึ่งที แล้วค่อยอธิบายทีหลัง" กุมภาพันธ์ 1840 จอร์จ เอลเลียต ถูกแต่งตั้งเป็นผู้มีอำนาจเต็มและผู้บัญชาการกองทัพอังกฤษ มันถูกเรียกว่า กองทัพพิชิตบูรพา ประกอบด้วยเรือทหาร 16 ลำ เรือกลไฟติดอาวุธ 4 ลำ เรือขนส่ง 28 ลำ ทหาร 4,000 นาย และปืนใหญ่อีก 540 กระบอก 28 มิถุนายน 1840 เรือรบอังกฤษเข้าล้อมท่าเรือของแม่น้ำจูเจียง และนั่นคือสัญญาณว่าสงครามฝิ่นได้เกิดขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ

อย่างที่รู้กัน ด้วยกองทัพสมัยใหม่บวกกับเทคโนโลยีที่เหนือกว่าของอังกฤษกับความล้าหลัง แก่งแย่งชิงดีในเหล่าขุนนาง และความฟอนเฟะของราชวงศ์ชิง ไม่จำเป็นต้องบอกฝ่ายใดกุมชัยชนะ ก็คิดดูแม่ทัพอาวุโสคนหนึ่งชื่อหยานฟาง ตั้งข้อสังเกตว่าเรือของอังกฤษทั้งที่อยู่ในแม่น้ำแต่กลับยิงปืนใหญ่ถล่มป้อมค่ายของจีนได้แม่นยำ ดังนั้น ฝ่ายอังกฤษย่อมต้องใช้เวทมนต์เป็นแน่แท้ ลุงแกเลยเอากระโถนใส่สิ่งปฏิกูลต่างๆ รอกระแสน้ำลดแล้วปล่อยแพกระโถนเข้าใส่เรือรบอังกฤษและเผาทำลาย คงไม่ต้องบอกอีกเช่นกันว่าวิธีนี้จบลงอย่างไร

ด้านชาวจีนเองก็จับอาวุธลุกขึ้นสู้ เช่นที่ซานหยวนหลี่ ซ้ำยังสามารถเอาชนะทหารอังกฤษได้ จนกองทัพอังกฤษต้องถอยออกจากเมืองกวางเจาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 1841 แต่นั่นก็ไม่มีนัยสำคัญอันใดต่อสงครามในภาพรวม

28 มกราคม 1841 อังกฤษก็ใช้แสนยานุภาพที่เหนือกว่าเข้ายึดครองเกาะฮ่องกง ปีต่อมาและต่อมาจึงเป็นปีที่มังกรป่วยถูกบีบบังคับให้ทำสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหลายฉบับกับหลายประเทศ สูญเสียค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะสนธิสัญญานานกิงที่ถือเป็นสนธิสัญญาที่บ่งบอกความพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่นของจีน

ทุกอย่างน่าจะจบ แต่แล้วในปี 1856 ก็เกิดเหตุการณ์เรือแอร์โรว์ เมื่อผู้บัญชาการทหารเรือมณฑลกวางตุ้ง ตรวจจับเรือแอร์โรว์ซึ่งต้องสงสัยว่าโจรสลัดค้าของเถื่อน ปัญหาคือกัปตันเรือเป็นชาวอังกฤษ บวกกับการใส่ไฟของเซอร์แฮร์รี สมิธ พาร์ค ผู้แทนกงสุลอังกฤษประจำเมืองกวางเจา อังกฤษจึงเปิดฉากสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 อีกครั้ง โดยมีฝรั่งเศส อเมริกา และรัสเซียเข้าร่วมวงกินโต๊ะจีนด้วย

สงครามฝิ่นครั้งที่ 2 ดำเนินไป 4 ปี ตั้งแต่ปี 1856-1860 จบลงด้วยความปราชัยของจีนเช่นเดิม พระราชวังฤดูร้อนหยวนหมิงหยวนเหลือเพียงเถ้าถ่าน ราชวงศ์ชิงถูกบีบให้ทำสนธิสัญญาเทียนจินและสนธิสัญญาปักกิ่งกับประเทศต่างๆ โดยจักรพรรดิเสียนเฟิงมอบหมายให้เจ้าชายอี้ซินอยู่ปักกิ่งเพื่อเจรจา ส่วนตัวจักรพรรดิหนีไปอยู่มณฑลเร่อเหอ

กลางปี 1861 จักรพรรดิเสียนเฟิงสวรรคต พระโอรสไจ่ฉุนที่อายุเพียง 6 ขวบครองบัลลังก์โอรสสวรรค์และมีเสนาบดี 8 คนเป็นผู้สำเร็จราชการแทน การแย่งชิงอำนาจเหนือบัลลังก์มังกรมีมาช้านาน ซูอันไทเฮาและ-ที่ลืมไม่ได้-ซูสีไทเฮาร่วมมือกับเจ้าชายอี้ซินก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากเหล่าผู้แทนพระองค์ เปิดศักราชใหม่ที่บัลลังก์มังกรมีผู้หญิงปกครองอยู่หลังม่าน ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าการปกครองของซูสีไทเฮานี้เองเป็นต้นเหตุที่ทำให้ราชวงศ์ชิงล่มสลาย

อย่างไรก็ตาม ก็มีหนังสืออีกเล่ม 'ซูสีไทเฮา หงส์เหนือบัลลังก์ผู้สร้างจีนสมัยใหม่' เขียนโดย Jung Chang แปลโดย นันทวิทย์ พรพิบูลย์ สำนักพิมพ์เอสไอเดีย ที่ให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่าซูสีไทเฮาอาจไม่ได้ร้ายกาจอย่างที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักกล่าวหา

สิ่งที่ต้องบอกกล่าวไว้ก็คือหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือประวัติศาสตร์กระแสหลักของจีน แต่ละประโยคจะรับรู้ได้ถึงแนวคิดชาตินิยม ดังที่มีคำกล่าวว่า ถ้าคุณไม่รู้ประวัติศาสตร์ก็เท่ากับคุณตาบอดข้างหนึ่ง แต่ถ้าคุณเชื่อประวัติศาสตร์โดยไม่สงสัย ไม่ตั้งคำถาม ก็เท่ากับคุณตาบอดทั้งสองข้าง นี่คือคำเตือน

ส่วนตัวผม การพ่ายแพ้สงครามฝิ่นทั้งสองครั้งของจีนคือตัวอย่างของความลำพองเกินพอดี ความเกินพอดีนี้นำไปสู่การปิดหูปิดตาเพราะเชื่อว่าจักรวรรดิแห่งนี้สมบูรณ์แบบที่สุด มิใยดีความเปลี่ยนแปลงของโลกรอบตัว ทั้งยังขัดฝืนมันเอาไว้ จุดจบจึงเพียงเรื่องของเวลาเท่านั้น

ตอนหน้าจะพูดถึงขบวนการไท่ผิงเทียนกว๋อหรือที่มักถูกเรียกว่ากบฏไท่ผิง กบฏชาวนาที่ต่อสู้กับราชวงศ์ชิงยาวนานถึง 14 ปี และเป็นกบฏชาวนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

-ความรักที่ไม่โรแมนติก "ความรักเป็นทักษะ ไม่ใช่ความรู้สึก"-

-เมื่อเราฆ่ากันในนามศาสนา เราจะไม่ปราณีและออมมือ-

-พุทธจัดในศรีลังกาและการฆ่าในนามของศาสนา-