-ส่งเสียงดังๆ ว่าไม่เอาทุนนิยมแบบจอมพลสฤษดิ์ -


เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวพัฒนาการของทุนนิยมและเศรษฐกิจได้สนุกทีเดียว ถ้าจะมีจุดให้ติงบ้างคงเป็นชื่อและคำโปรยปกหลังที่พาให้คิดว่าเป็นการเล่าโมเดลเศรษฐกิจสามสี แต่เอาเข้าจริง เศรษฐกิจสามสีเป็นเพียง 1 ใน 4 ส่วนของเล่มเท่านั้น

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ผู้เขียน เป็นอาจารย์อยู่ที่ National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) ประเทศญี่ปุ่น หนังสือหนา 236 หน้านี้พยายามชวนผู้อ่านไปดูเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออก ทุนนิยมที่มีหลากหลายเฉด อนาคตของประเทศไทย และโมเดลเศรษฐกิจสามสี พิมพ์กับสำนักพิมพ์ BOOKSCAPE

มีเรื่องน่าสนใจว่า ปี 1960 ธนาคารโลกเริ่มเก็บข้อมูลประเทศรายได้ปานกลาง 101 ประเทศ เมื่อผ่านไป 50 ปี ประเทศที่ก้าวไปสู่ประเทศร่ำรวยมีเพียง 13 ประเทศเท่านั้น แน่นอนว่าไม่มีไทยรวมอยู่ด้วย ซึ่งมันวกกลับมาสู่คำถามที่ว่าทำไมไทยจึงยังติดกับประเทศรายได้ปานกลาง ทั้งที่เราเริ่มต้นพัฒนาประเทศไล่เลี่ยกับเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์

ผู้เขียนพาเราไปสำรวจวิธีการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่เอ่ยชื่อไปข้างต้น ซึ่งก็ทำให้เห็นอีกว่าวิธีการพัฒนาไม่ได้มีแค่หนทางเดียว แต่การที่ไทยไปไม่ถึงไหนเพราะเราติดกับดัก เปล่า, ไม่ใช่กับดักประเทศรายได้ปานกลาง นั่นมันเป็นผล

เราติดกับดักมรดก ทุนนิยมแบบจอมพลสฤษดิ์ คือการเป็นพันธมิตรระหว่างทุนใหญ่ นายธนาคาร เทคโนแครต และมีราชการเป็นศูนย์กลาง

“ทุนนิยมไทยโดยเฉพาะช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 จึงมีลักษณะเติบโตเร็วแต่เหลื่อมล้ำสูง และขับเคลื่อนไปในทิศทางที่สมประโยชน์ของเครือข่ายธนาคาร-นายทหาร-เทคโนแครต”

ถ้าตีความแบบผม ทุนนิยมไทยจนถึงตอนนี้จึงเป็นทุนนิยมที่กันคนจำนวนมากออกไปจากสมการ เป็นทุนนิยมพวกพ้องที่จำกัดผู้ได้รับผลประโยชน์เพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น กับดักอีกตัวคือการนำตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจมาปะปนกับการพัฒนาประเทศ ซึ่งผู้เขียนย้ำว่า มันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับวีระยุทธ ถามเขาว่าจากที่อ่านหนังสือเล่มนี้ดูเหมือนผู้เขียนจะเชื่อในเรื่องของตลาด

ทว่า เขาปฏิเสธ ผู้เขียนเชื่อเรื่อง การแข่งขัน มากกว่า ตลาด เพราะตลาดสามารถผูกขาดได้ ดังที่เราคงเห็นกันอยู่คาหนังคาเขา ในหนังสือวีระยุทธเล่าถึงคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของสหภาพยุโรปที่ทำหน้าที่อย่างแข็งขันไม่ให้บริษัทใดมีอำนาจเหนือตลาดมากเกินไปจนบั่นทอนการแข่งขัน

ย้อนกลับมาที่ไทย อันที่จริงมีเรามีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าก่อนประเทศอื่นๆ ในอาเซียน แต่แทบไม่เคยทำอะไรได้เลย ล่าสุด มีการปรับปรุงกฎหมายการแข่งขันทางการค้าแล้ว ผลงานจะเป็นอย่างไร ตอบไม่ได้ ยังต้องรอดู

ส่วนสุดท้าย วีระยุทธเสนอว่าไทยควรพาตนเองเข้าไปอยู่ในโมเดลธุรกิจใหม่ หาโอกาสใหม่ๆ ที่ประกอบด้วยสีเขียวหรือสิ่งแวดล้อม สีเงินหรือตลาดผู้สูงอายุ และสีทองหรือกติกาใหม่ของทุนนิยมที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ

ภายในเล่มยังมีข้อถกเถียงโลกแตกอีกหลายประเด็น เช่น รัฐและตลาดควรมีบทบาทมากแค่ไหน การสร้างรัฐสวัสดิการ นโยบายอุตสาหกรรมของประเทศ เป็นต้น

ประเด็นที่ผมสนอกสนใจเป็นพิเศษคือเรื่องการแข่งขัน ทั้งคุณและผมคงเคยเกิดคำถามปวดใจบ่อยครั้ง ยามต้องเผชิญกับสินค้าหรือบริการที่ไม่ประทับใจเอาเสียเลย แต่กลับทำอะไรไม่ได้ (ผมถึงขั้นรู้สึกอัดอั้นคับแค้นกันเลยทีเดียว) เพราะถ้าไม่ใช้สินค้าหรือบริการของเจ้านี้ ก็ไม่รู้จะใช้ของเจ้าไหน นั่นแปลว่า เราไม่มีทางเลือก และที่เราไม่มีทางเลือกก็เป็นผลพวงจากการที่เราขาดการแข่งขัน มีเพียงเจ้าใหญ่ๆ ไม่กี่เจ้าที่ครอบงำตลาด

คำถามใหญ่มากๆ อยู่ที่ว่า แล้วเราจะสร้างการแข่งขันได้อย่างไร?

ถ้าให้ผม-ซึ่งไม่ได้มีความรู้เศรษฐศาสตร์เป็นชิ้นเป็นอัน-ตอบ คงตอบแบบกว้างเป็นมหาสมุทรว่า ต้องหลุดจากทุนนิยมแบบจอมพลสฤษดิ์ ทุนนิยมแบบพวกพ้อง การจะทำเช่นนี้ได้ ไม่มีทางเลี่ยงการเมืองได้พ้น เพราะการเมืองและเศรษฐกิจต่างกำหนดกันและกัน

ผู้เขียนเขียนไว้ในท้ายของบทบทหนึ่งว่า

“นัยที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ความหลากหลายของทุนนิยมนี้ไม่ใช้ปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่เป็นผลจากการออกแบบด้วยมือมนุษย์ โดยเฉพาะการต่อรองระหว่างกลุ่มต่างๆ ว่าจะสร้างรัฐให้มีรูปร่างหน้าแบบไหน และจัดวางความสัมพันธ์กับกลุ่มธุรกิจ แรงงาน เกษตรกร หรือชนชั้นกลางอย่างไร”

การเมืองคือการต่อรอง

คำถามที่ใหญ่ยิ่งกว่าคือเราจะบีบให้รัฐที่สร้างทุนนิยมแบบพวกพ้องนี้ขึ้นมา ฟัง เสียงของเราได้อย่างไร?

...ก็ต้องส่งเสียงของเราให้ดัง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

-เมื่อเราฆ่ากันในนามศาสนา เราจะไม่ปราณีและออมมือ-

-ความรักที่ไม่โรแมนติก "ความรักเป็นทักษะ ไม่ใช่ความรู้สึก"-

-พุทธจัดในศรีลังกาและการฆ่าในนามของศาสนา-