-เรื่องราวหลากสีสันในราชวงศ์ชิง จากรุ่งโรจน์แล้วร่วงโรย-



เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์จีน ช่วงเวลาที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือยุคชุนชิว-จ้านกว๋อหรือในยุคที่รัฐต่างๆ ยังไม่ถูกรวมเป็นหนึ่งเดียวโดยราชวงศ์ฉิน กับอีกยุคหนึ่งคือยุคปลายราชวงศ์ชิง เมื่ออาณาจักรที่คิดว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของโลกถูกท้าทายจากอำนาจของเรือปืนและการล่าอาณานิคมจากซีกโลกตะวันตก ผมรู้สึกว่าประวัติศาสตร์จีนในรูปแบบงานวิชาการหรือกึ่งวิชาการยุคชุนชิว-จ้านกว๋อหาอ่านไม่ค่อยได้ มักจะเป็นพงศาวดารเสียมากกว่า ขณะที่ประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ชิงมีให้อ่านมากกว่า

หนังสือเล่มนี้ถือว่าเป็นหนังสือวิชาการที่พูดถึงหลายมิติ ทั้งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม โครงสร้างการปกครอง วรรณคดี ไปจนถึงปรัชญา มีผู้เขียนหลายคน จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ชวนอ่าน ซึ่งผมจะขอพูดถึงส่วนที่ผมชอบเป็นหลักคือส่วนของประวัติศาสตร์

ราชวงศ์ชิงคือชาวแมนจู ไม่ใช่ชาวฮั่น มีถิ่นฐานอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน ถูกชาวฮั่นเรียกว่า จิน ถ้าใครเคยอ่านมังกรหยกซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่งคงคุ้นเคยกับเผ่าจินหรือกิม ที่ต่อมาถูกปราบโดยชาวมองโกลที่เข้ามามีอำนาจปกครองจีนในนามราชวงศ์หยวน ก่อนจะพ่ายแพ้ให้กับจูหยวนจาง ผู้ซึ่งขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์หมิงในเวลาต่อมา

เมื่อนูร์ฮาซือรวบรวมชนเผ่าแมนจูเข้าด้วยกันได้แล้วก็เริ่มรุกลงใต้ แต่เขาเสียลงก่อนที่จะเป็นฮ่องเต้ หวงไท่จี๋ ลูกชายคนที่ 8 ที่ขึ้นเป็นข่านต่อจากเขาทำให้ฝันของพ่อเป็นจริง เขาขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์ชิง ประยุกต์เอาวิธีการปกครองของจีนทั้ง 6 กระทรวงผสมเข้ากับการปกครองดั้งเดิมของแมนจูที่เรียกว่า กองธงทั้งแปด ใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็งเพื่อกลมกลืนกับชาวฮั่นและได้รับการยอมรับ การตราหนังสือต้องห้ามมากที่สุดในประวัติศาสตร์จีน เป็นการควบคุมความคิดของผู้คน ขณะเดียวกันทางการก็จัดทำประมวลสาส์นสี่พระคลังเป็นกลไกทางอุดมการณ์และความสร้างความชอบธรรมให้แก่ราชวงศ์ชิง

ตอนที่ผมชอบที่สุดคือ หงซิ่วเฉวียน: ต้นแบบนักปฏิวัติจีน เขียนโดยวาสนา วงศ์สุรวัฒน์ ที่พยายามรื้อความหมายของคำว่า กบฏ กับ ปฏิวัติ ที่วัดกันจากความสำเร็จ ผ่านตัวอย่างของกบฏไท่ผิง (หนังเรื่อง สามอหังการ์เจ้าสุริยาหรือ The Warlords’ ปี 2007 เล่าเรื่องในช่วงท้ายของการปราบกบฏไท่ผิง) ที่ยืดเยื้อยาวนานกว่าราชวงศ์ชิงจะปราบลงได้ ซึ่งก็ต้องใช้ทรัพยากรไปจำนวนมากจนมีส่วนเอื้อให้การปฏิวัติซินไฮ่ของซุนยัตเซ็นประสบความสำเร็จ

ในห้วงยามนั้น ประเทศจีนอยู่ในสภาพร่อแร่ ถูกประเทศตะวันตกเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ ถูกบังคับให้ทำสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ่ายแพ้ในสงครามฝิ่น หงซิ่วเฉวียนที่พลาดการสอบจอหงวนถึง 4 ครั้งจนตรอมใจ ล้มป่วย ระหว่างนี้ได้อ่านหนังสือเผยแผ่ศาสนาคริสต์ก็อ้างว่าเห็นนิมิตว่าตนเองเป็นน้องชายของพระเยซูที่ได้รับมอบหมายให้ล้มล้างความหลงผิดในลัทธิบูชาบรรพบุรุษของขงจื่อ

ในห้วงยามที่ดูสิ้นหวังแบบนั้น คำสอนของหงซิ่วเฉวียนคงจับจิตจับใจคนจำนวนมากและมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งปี 1853 กองกำลังของเขาสามารถยึดนานกิงเมืองหลวงเก่าของราชวงศ์หมิงเป็นฐานที่มั่นได้ ทว่า เขาก็ไม่สามารถล้มล้างราชวงศ์ชิงได้สำเร็จ สาเหตุ 2 ประการหลักคือความแตกแยกในหมู่ชนชั้นนำของกบฏไท่ผิงและเจิงกั๋วฟาน ขุนพลแห่งราชวงศ์ชิง ผู้สร้างกองทัพแบบสมัยใหม่กองทัพแรกในประวัติศาสตร์จีน ในที่สุดปี 1864 อาณาจักรสวรรค์แห่งสันติสุขที่ยิ่งใหญ่ของหงซิ่วเฉวียนก็ล่มสลายลง

อย่างไรก็ตาม วาสนาเห็นว่าหงซิ่วเฉวียนเป็นตัวอย่างนักปฏิวัติที่กรุยทางให้แก่ซุนยัตเซ็นและเหมาเจ๋อตุงเดินตามด้วยการซื้อใจมวลชนและใช้บรรดาสมาคมลับต่างๆ เป็นตัวช่วยในการปฏิวัติ เมื่อการปฏิวัติสำเร็จ ทั้งซุนยัตเซ็นและเหมาเจ๋อตุงก็มองอีกอย่าง สมาคมลับคือซากเดนจากยุคศักดินาที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิวัติ (เฮ้อ)

ในปลายราชวงศ์ชิงยังมีเหตุการณ์อีกมากมายที่ผมอยากรู้ ไม่ว่าจะเป็นสงครามฝิ่นทั้งสองครั้ง การเข้ามาของลัทธิล่าอาณานิคม กบฏนักมวยหรืออี้เหอถวน ซูซีไทเฮา หญิงผู้ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพังทลายของราชวงศ์ชิง ขณะที่มีหนังสืออีกจำนวนหนึ่งตีความไปอีกด้าน แต่หนังสือเกี่ยวกับเรื่องราวเหล่านี้ในเวอร์ชั่นภาษาไทยยังมีค่อนข้างน้อย ถ้าสำนักพิมพ์ไหนมีพละกำลังพอก็แปลและจัดพิมพ์ออกมาเถอะครับ

สำหรับผม เรื่องราวของราชวงศ์ชิงคือเรื่องราวของการฝืนกระแสความเปลี่ยนแปลง เมื่อไม่ยอมเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับโลกที่เดินเข้ามา เวลาก็จะลบสิ่งนั้นออกจากประวัติศาสตร์ คำถามจึงไม่ใช่ หรือไม่? แต่คือ เมื่อไหร่?

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

-พุทธจัดในศรีลังกาและการฆ่าในนามของศาสนา-

-คน 7,626 คนมีทรัพย์สิน 2.1 ล้านล้านบาท คน 12.2 ล้านคน มีเงินในบัญชีไม่เกิน 500 บาท-

-Crossing the Rubicon River-