-ศาสนาทั้งผองพี่น้องกัน ...ยากเกินกว่าจะเป็นจริง-

ทะไลลามะองค์ที่ 14 มีปณิธานแรงกล้าที่จะสร้างความปรองดองระหว่างศาสนา โดยที่ศาสนิกยังคงความเป็นตัวของตัวเอง ยึดมั่นศรัทธาในศาสนาของตน พร้อมกับเคารพอย่างจริงใจต่อศาสนาอื่น ปฏิเสธไม่ได้หรอกว่าเป็นปณิธานที่น่าชื่นชมและยากเย็นสาหัส

ตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ศาสนาเป็นเงื่อนปมสำคัญของความขัดแย้ง การฆ่าฟัน และสงครามจวบจนปัจจุบัน และมันไม่ได้คงอยู่อย่างโดดเดี่ยวโดยไม่ผูกโยงกับปัจจัยอื่นๆ เลย เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมคิดว่าปณิธานของทะไลลามะองค์ที่ 14 ยากจะเป็นจริง

ศาสนาทั้งผองพี่น้องกัน: วิถีสู่ความปรองดองในหมู่ศาสนา หรือ ‘Toward the True Kinship of Faiths: How the world’s religions can come together’ ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2010 เพิ่งมีการแปลเป็นภาษาไทยเมื่อเดือนมกราคม 2563 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา แปลโดยนัยนา นาควัชระ

ทะไลลามะองค์ที่ 14 บอกเล่าการเดินทางทางความคิดอย่างเปิดเผยว่า หากตนไม่ต้องอพยพจากทิเบตไปลี้ภัยอยู่ที่อินเดีย ความคิดตื้นเขินที่ว่าพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ดีที่สุดก็คงติดตัวไปตลอดชีวิต ทว่า การมาพักพิงในอินเดียซึ่งเป็นบ่อเกิดของศาสนาอันหลากหลายช่วยให้เขาตระหนักว่าตนคิดผิด

“หลังจากที่ข้าพเจ้าหลุดออกมาจากมุมมองที่คับแคบว่าศาสนาของตนเป็นศาสนาที่ดีที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย การมีทัศนะเช่นนั้นพอจะเข้าใจได้สำหรับคนที่ด้อยประสบการณ์และไม่เคยออกไปพบโลกภายนอก... ทั้งหมดนี้เป็นแค่ความหลงใหลได้ปลื้มตนเอง และแม้แต่เป็นความหยิ่งผยองที่เกิดจากความไม่รู้”

เนื้อหา 4 จาก 10 บท เล่าถึงประสบการณ์ที่ทะไลลามะองค์ที่ 14 ได้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับศาสนาหลักๆ ของโลก-ฮินดู คริสต์ อิสลาม ยูดาย-และความคิดที่มีต่อศาสนาเหล่านั้น ผู้เขียนเน้นย้ำว่า “การจะสร้างความสมานฉันท์ที่แท้จริงระหว่างศาสนาบนพื้นบานของความเข้าใจอันดีต่อกัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการยอมรับว่าทุกศาสนาเหมือนกันโดยพื้นฐาน”

“การจะสร้างความปรองดองได้สำเร็จจะต้องไม่พยายามปกปิดความแตกต่างระหว่างศาสนาด้วยการสร้างภาพว่าอันที่จริงแล้วศาสนาทั้งหลายเป็นหนึ่งเดียว หรือพยายามน้ำข้อเด่นของแต่ละศาสนามาผสมผสานกันเพื่อให้ได้ศาสนาสากล แต่เราจะต้องประกาศให้ชัดเจนว่าศาสนาทั้งหลายแตกต่างกันและเฉลิมฉลองความแตกต่างเหล่านั้น”

เพราะแต่ละศาสนาไม่มีทางเหมือนกัน ศาสนาเทวนิยมและศาสนาอเทวนิยมมีรากฐานทางปรัชญาที่ไม่มีวันบรรจบกันได้ ถึงกระนั้น ทะไลลามะองค์ที่ 14 กลับมองเห็นจุดบรรจบร่วมกันประการหนึ่งของทุกศาสนานั่นคือ ความกรุณา ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าเป็นจริยธรรมขั้นพื้นฐานของทุกศาสนา

ทะไลลามะองค์ที่ 14 ยังวิเคราะห์เหตุของความขัดแย้งระหว่างศาสนาว่ามี 2 สาเหตุหลัก หนึ่ง-ความขัดแย้งทางองค์กรศาสนาซึ่งมีประเด็นสำคัญอยู่ที่ อำนาจ ไม่ว่าจะในทางการเมือง เศรษฐกิจ เชื้อชาติ หรือสถาบัน เป็นความขัดแย้งของผลประโยชน์ที่มีศาสนาบังหน้า และสอง-เกิดจากความไม่สอดคล้องกันของศรัทธาความเชื่อ ทั้งในศาสนาเดียวกันและต่างศาสนา การที่ศาสนิกจำนวนหนึ่งนำความเชื่อทางศาสนาจุดชนวนความรุนแรงจึงเป็นความหลงผิดเฉพาะบุคคล มิใช่ที่ศาสนา

ผู้เขียนเห็นว่าทางออกคือ พหุนิยม ทางศาสนา ซึ่งคำนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่มาก และผมเองก็ไม่มีความสามารถพอจะร่วมถกเถียงด้วย

เอาเป็นว่าสิ่งที่ทะไลลามะองค์ที่ 14 เรียกร้องคือการยอมรับความแตกต่างระหว่างศาสนาและเคารพ ความเป็นจริง ของผู้อื่น โดยที่ศาสนิกยังสามารถศรัทธาต่อความจริงในศาสนาของตนเองได้

“สำหรับข้าพเจ้า พุทธศาสนาย่อมดีที่สุด แต่ก็มิได้หมายความว่าพุทธศาสนาจะดีที่สุดสำหรับทุกคน ไม่ใช่แน่นอน! สำหรับเพื่อนมนุษย์นับล้านของข้าพเจ้า คำสอนแบบเทวนิยมคือวิถีที่ดีที่สุดสำหรับเขา...

“ตัวข้าพเจ้าในฐานะชาวพุทธจะต้องไม่ยึดติดกับพุทธศาสนาของข้าพเจ้าอย่างมีอัตตา เพราะการทำเช่นนั้นจะปิดกั้นไม่ให้มองเห็นคุณค่าของศาสนาอื่น”

สำหรับผม ทะไลลามะองค์ที่ 14 ถือว่ามีขันติธรรมและความใจกว้างอย่างยิ่ง เมื่อเทียบกับเรื่องราวของบรรดาศาสนิกไม่ว่าจะในศาสนาใดทั้งในและต่างประเทศที่ผมมักได้ยิน มิพักต้องกล่าวถึงชาวพุทธในบางประเทศที่ชื่นชมยินดีกับการกวาดล้างชาวโรฮิงญาในพม่าและถือมั่นอย่างยึดติดกับศาสนาของตนว่าดีที่สุด กระทั่งสามารถนำมาใช้ได้กับทุกเรื่องราวอันซับซ้อนของโลกใบนี้

แต่การที่ผมคิดว่าปณิธาณของทะไลลามะองค์ที่ 14 ยากจะเป็นจริง ผมย่อมมีเหตุผล (ซึ่งผู้เขียนจะแตะประเด็นนี้ไม่มาก) เนื่องจากศาสนาไม่ได้ดำรงตนอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไม่ใช่แค่อยู่ท่ามกลางสังคมและวัฒนธรรม แต่ในหลายๆ ครั้ง ศาสนาแทรกซึมเป็นเนื้อเดียวกันกับอัตลักษณ์ของคน-เผ่าพันธุ์ เชื้อชาติ ความเป็นชาติ เป็นต้น

ลองนึกดูว่าวันที่ศาสนา ของ ตนถูกแตะต้อง มันคงไม่ใช่เพียงความรู้สึกว่าศาสนาที่ฉันยึดถือถูกลบหลู่ มันไปไกลกว่านั้น มันทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงต่ออัตลักษณ์ของตน ชาติที่สั่นคลอน เชื้อชาติที่ถูกโจมตี ทั้งที่หากคิดด้วยเหตุผลอย่างจริงจังแล้ว เป็นไปได้อย่างไรที่ศาสนา ชาติ เชื้อชาติ หรืออัตลักษณ์จะเป็นสิ่งเดียวกันได้

ไม่เชื่อก็ให้นึกถึงคำขวัญหลักของกองทัพบางประเทศที่ ศาสนา เป็นอีกหนึ่งสถาบันที่ต้องรักษา ทั้งที่การบำรุงรักษาศาสนาไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพแต่อย่างใด

ผมจึงไม่แน่ใจว่าความปรองดองระหว่างศาสนาจะเกิดขึ้นได้จริงในระดับใหญ่โตกว้างขวางเกินกว่าความสัมพันธ์ระดับปัจเจกไปมากนัก

ที่ผมแน่ใจได้ก็คือพลันที่ศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ความรุนแรง และสงคราม มนุษย์จะฆ่ากันโดยไม่ออมมืออีกต่อไป

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

-เมื่อเราฆ่ากันในนามศาสนา เราจะไม่ปราณีและออมมือ-

-ความรักที่ไม่โรแมนติก "ความรักเป็นทักษะ ไม่ใช่ความรู้สึก"-

-พุทธจัดในศรีลังกาและการฆ่าในนามของศาสนา-