-'เหมืองแร่' และครั้งหนึ่งที่ผมได้คุยกับ 'พี่อาจินต์'-



บางครั้งการอ่านก็เป็นงานหนัก ความหนา 1,000 หน้าทำให้ 'เหมืองแร่ฉบับสมบูรณ์' ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ หนักมือและลำบากถือ

สำหรับผม เหมืองแร่ไม่ใช่เรื่องสั้น แต่เป็นบันทึกความทรงจำของอาจินต์ที่ตรากตรำในเหมืองแร่ระหว่างปี 2492-2496 ในจังหวัดพังงา ดินแดนแสนไกลเมื่อ 70 ปีก่อน

เป็นงานที่อ่านเพลินได้เรื่อยๆ สิ่งที่สนใจเป็นพิเศษคือเรื่องราวชีวิตชนบทไทยเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษ การเดินทางไปภูเก็ตยังต้องนั่งเรือข้ามไป รำวงคือมหรสพอันมีชีวิตชีวาที่คนเหมืองไม่เคยพลาด สภาพบ้านช่องในตัวอำเภอ ฯลฯ มันช่วยฉายภาพอดีตชนิดที่คนยุคนี้จินตนาการไปไม่ถึง

การดิ้นรนมีชีวิตของอดีตนิสิตจุฬาที่ถูกรีไทร์ แล้วถูกพ่อส่งมาดัดสันดานเสียไกลโพ้น ผจญแดด ลม ฝน ในแบบแผ่นดินทางใต้ อาบเหงื่อต่างน้ำ กินเหล้าเหมือนไม่เคยกินมาก่อน อยู่ร่วมกับผู้คนจากสารพัดที่ที่พเนจรมาหากินกับเหมือง มันชวนให้เพ้อพกว่าถ้าอายุยังน้อยกว่านี้ก็อยากออกไปเผชิญโชคบ้าง

ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือวิธีบรรยายภาพแผ่นดินของอาจินต์ ไม่สวิงสวายเหมือน 'รงค์ แต่ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะ ลือชากันว่าอาจินต์เป็นคนที่เขียนหนังสือกระชับ แต่กินความมาก

ฝนตกจน "ภูเขาเปียกจนละลาย ใบไม่โงหัวไม่ขึ้น" ตอนได้ยินวลีนี้ครั้งแรก ผมคิดในใจว่า โห แม่งคิดการเปรียบเทียบนี้ได้ไงวะ

"ท้องฟ้าเหมืองแร่กว้างและสูงจนเราไม่สามารถจะยื่นคำวิงวอนใดๆ ไปถึงมือสวรรค์"

"ตะวันขึ้นแล้วก็ตก การเดินทางของมันลากเส้นผ่านท้องฟ้าและแผ่นดินให้กลายเป็นกาลเวลา"

จากบทหนึ่งสู่บทต่อไป เหมืองแร่ฉายชัดขึ้นทุกขณะผ่านถ้อยคำจนนำสู่บทสรุป เหมืองแร่ปิดตัวลงเมื่อเรือขุดผุพังเกินกว่ากู้คืน จบชีวิต 4 ปีในพังงาของอาจินต์ แต่มันกลายเป็นวัตถุดิบชั้นเยี่ยมให้เขาไปต่อบนเส้นทางนักเขียนและกลายเป็นบรรณาธิการแห่งบรรณาธิการในที่สุด

วลีที่ชวนจดจำที่สุดสำหรับผมอยู่ในตอน 'ตาแก่กับชายหนุ่ม' มันสรุปชีวิตเหมืองแร่ของอาจินต์ได้ดี และเพิ่มแรงฮึกเหิมให้ผมอยากมีชีวิตอยู่ต่อ

"อดีตคือความฝัน ปัจจุบันต้องอดทน"

ผมยังจำได้ เมื่อประมาณ 15 ปีก่อน ผมยังไม่เคยอ่านเรื่องสั้นเหมืองแร่แม้สักตอน เพิ่งเป็นนักข่าวใหม่ๆ ไม่มีประเด็นอะไรเป็นพิเศษ แค่อยากหาเรื่องไปเจอคนดังในแวดวงนักเขียน ผมเสนอชื่ออาจินต์ ปัญจพรรค์ และ บก. ก็อนุญาต

ผมไปเจอลุงอาจินต์ที่บ้านย่านสุทธิสาร จำไม่ได้แล้วว่าคุยอะไรกันบ้าง แต่คุยไปคุยมา แกให้เรียกตัวแกว่า 'พี่' ทั้งที่อายุตอนนั้นแกเป็นปู่ผมได้แล้ว

เรื่องที่จำได้คือ ในเนื้อสัมภาษณ์พี่อาจินต์กล่าวติเตียนอดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย หลังจากนั้นก็ได้ข่าวว่าเด็กนายหัวชวนไม่พอใจและส่งสาส์นถึงพี่อาจินต์ให้รู้ตัว

จนมีโอกาสได้เจอแกในงานอะไรสักอย่าง ผมก็เข้าไปขอโทษที่หลุดเนื้อหาจุดนี้ออกตีพิมพ์ พี่อาจินต์บอกว่าไม่เป็นไรๆ ผมพลาดเอง ...ก็ตามสไตล์นักเลงโบราณครับ แผ่อกยอมรับ เหมืองแร่ที่ใต้คงเคี่ยวกรำซะจนพี่อาจินต์ไม่รู้สึกสะท้านสะทกกับเรื่องแบบนี้สักเท่าไหร่

พี่อาจินต์ก็รุ่นไล่เลี่ยกับนักเขียนอย่างประมูล อุณหธูป ผู้สร้างจันดารา สุวัฒน์ วรดิลก เจ้าของนามปากกา รพีพร เป็นคนศรีราชา ตอนวัยรุ่นเคยเดินผ่านบ้านแกด้วย เล่มที่ผมอ่านคือรวมเรื่องสั้น เหนือจอมพลยังมีจอมคน ศักดิ์ชัย บำรุงพงศ์หรือที่รู้จักกันในนามเสนีย์ เสาวพงษ์ ผู้เขียนปีศาจ 'รงค์ วงษ์สวรรค์ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งของพี่อาจินต์

ปีก่อนพี่อาจินต์ก็ได้ไปอยู่กับเพื่อนๆ แล้ว

บทสุดท้ายของหนังสือเหมืองแร่ชื่อว่า 'ผู้ชนะคือแผ่นดิน' เป็นบทสรุปของบทสรุปทั้งต่อรวมเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่และชีวิตของผู้สร้างสรรค์มันขึ้นมาผ่านน้ำหมึก

สุดท้ายเราต่างต้องกลับสู่แผ่นดิน เพราะผู้ชนะคือแผ่นดิน

เหมืองแร่ปิดแล้ว ลาก่อน พี่อาจินต์ ปัญจพรรค์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

-ความรักที่ไม่โรแมนติก "ความรักเป็นทักษะ ไม่ใช่ความรู้สึก"-

-เมื่อเราฆ่ากันในนามศาสนา เราจะไม่ปราณีและออมมือ-

-พุทธจัดในศรีลังกาและการฆ่าในนามของศาสนา-