-โดราเอมอน โลกจินตนาการกับความฝันวัยเด็กของผมที่ไม่รู้ว่ามีอยู่-



ถ้านับอายุอานาม โดราเอมอนแก่กว่ามังงะดังๆ หลายเรื่อง ในแง่ยอดขายก็คงเทียบชั้น One Piece ที่ 455 ล้านเล่มไม่ได้ ในแง่ลายเส้น ความแปลกใหม่ พล็อต และการวางเส้นเรื่องก็น่าจะสู้มังงะรุ่นใหม่กว่าไม่ได้อีกเหมือนกัน ถึงอย่างนั้นก็เถอะ ผมเชื่อว่าโดราเอมอนเป็นมังงะที่อยู่ในใจใครหลายคน

มันช่วยกระตุ้นจินตนาการ ต่อเติมความฝันวัยเด็กของผมและเด็กๆ ให้ผลิบาน การเดินทางในอวกาศ มนุษย์ต่างดาว ไดโนเสาร์ อาณาจักรซ่อนเร้นที่หลงเหลือบนโลกใบนี้ แถมยังตั้งคำถามถึงวิทยาศาสตร์ในอนาคต คิดว่าทำไมโนบิตะไม่ใช่โดเรมอนทำให้ตัวเองร่ำรวยขึ้นมา คิดว่าทำไมรัฐบาลญี่ปุ่นไม่จับโดราเอมอนไปทดลอง ถ้ามีประตูไปที่ไหนก็ได้จริงๆ ธุรกิจโลจิสติกส์จะพังทลายไหม ถ้าเดินทางข้ามกาลเวลาได้จริง ผมก็อยากย้อนไปในยุคอยุธยาเพราะอยากรู้ว่าคนยุคนั้นอยู่กินกันยังไง และอื่นๆ อีกมากไม่จบสิ้น

โดราเอมอนตีพิมพ์ครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อธันวาคมปี 2512 (ก่อนผมเกิดอีก) โดยสำนักพิมพ์โชงะกุกัง อย่างที่รู้กัน เรื่องราวหลักๆ ในโดราเอมอนคือการช่วยโนบิตะแก้ปัญหาสารพัน เสนอเป็นตอนสั้นๆ กับสารพัดของวิเศษ (หรือจะเรียกว่าเทคโนโลยีจากอนาคตดี?)


แล้วยังมีตอนพิเศษอีกหลายตอนที่ถูกผลิตออกมาเรื่อยๆ

ตอนที่ผมชอบที่สุดคือ เผชิญอัศวินไดโนเสาร์

มันเริ่มต้นจากการที่ซูเนโอะหัวเราะเยาะโนบิตะที่ยังเชื่อว่าโลกใบนี้ยังมีไดโนเสาร์ แล้วเรื่องก็ทำให้ดูลึกลับซ่อนเงื่อนขึ้นเมื่อตัวซูเนโอะกลับเป็นฝ่ายพบเจอไดโนเสาร์เสียเอง จนคิดว่าตัวเองเพี้ยน เริ่มหมกมุ่น กังวล และอยากจะพิสูจน์ความจริง

จังหวะพอดีกับที่โนบิตะและโดราเอมอนสร้างห้องในถ้ำใต้พิภพ ก๊วนเพื่อนโนบิตะทั้งหมดก็พลอยได้สนุกไปด้วย ยกเว้นซูเนโอะที่ยังหมกมุ่นกับการพบเจอไดโนเสาร์ ซ้ำยังไปเจออีกในถ้ำใต้โลก เจ้าตัวจึงตัดสินใจเอากล้องวีดิโอติดมือไปเพื่อพิสูจน์ความจริง ก่อนจะหายตัวไป ทำให้เพื่อนๆ ต้องออกตามหา และพบอาณาจักรใต้พิภพที่ยังมีไดโนเสาร์เดินไปมา สิ่งมีชีวิตทรงปัญญาที่วิวัฒนาการจากไดโนเสาร์

จากนั้นตัวเรื่องก็เล่นกลกับเส้นเวลาเมื่อ 65 ล้านปีก่อนที่อุกกาบาตพุ่งชนโลกจนทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ กลายเป็นว่าจุดกำเนิดของอาณาจักรไดโนเสาร์ใต้พิภพก็เพราะโดราเอมอนและเพื่อนๆ นั่นแหละที่ต้องการช่วยเหล่าไดโนเสาร์ไว้ไม่ให้สูญพันธุ์

ในวัยเด็ก ผมยังได้อ่านนิตยสารมิติที่ 4 ที่พูดถึงเรื่องราวลึกลับต่างๆ อย่างการมาเยือนของมนุษย์ต่างดาว เนสซี่ในทะเลสาบล็อกเนส บิ๊กฟูต รอยเท้าปริศนา สัญลักษณ์ประหลาดในไร่ข้าวโพด มันเป็นเรื่องชวนตื่นเต้น ปลุกความใฝ่ฝันให้ลุกโชน

เอางี้แล้วกัน พอโตขึ้นผมถึงรู้ว่ามีงานที่เรียกว่า นักบรรพชีวินวิทยา ที่ศึกษาไดโนเสาร์ คอยขุดฟอสซิล ปัดฝุ่นอย่างประณีตบรรจง มีนักสมุทรศาสตร์ศึกษาเรื่องท้องทะเล มีนักโบราณคดีที่ขุดคุ้ยอดีตจากผืนดิน ซึ่งในยุคของผมวิชาแนะแนวยังเป็นแค่วิชาสำหรับพักผ่อนนอนเล่น มากกว่าจะเปิดโลกการศึกษาว่ายังมีวิชาในโลกนี้อีกมากที่น่าหลงใหล มากกว่าการเป็นวิศวะ (สมัยผมนี่ เวลาถูกถามว่าจะเรียนต่ออะไร ก็มักตอบวิศวะไว้ก่อน เพราะรู้สึกว่ามันเท่ ทั้งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร)

แต่สมัยนี้ โลกของเด็กๆ กว้างขวางใหญ่โตกว่าวัยเด็กของผมมาก ดีใจด้วยที่พวกเขาจะมีโอกาสรู้จักสารพัดวิชาความรู้ มีโอกาสได้เลือกเรียนสิ่งที่ตนเองสนใจจริงๆ

เดี๋ยวก่อนๆ พูดแบบนี้ใช่ว่าเด็กทุกคนจะได้โอกาส ถ้าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทยยังมีช่องว่างขนาดมหาสมุทร เด็กจำนวนมากอาจรู้สิ่งที่ตนเองต้องการ ทว่า เงื่อนไขชีวิตไม่เอื้อ ไม่ก็ต้องดิ้นรนขวนขวายหนักกว่าเด็กอื่นๆ ที่ชีวิตเริ่มจากบวก

ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ผมคงเลือกเป็นนักบรรพชีวินวิทยาหรือไม่ก็นักสมุทรศาสตร์ ไม่ใช่แค่เพราะผมชอบเรื่องราวของไดโนเสาร์และท้องทะเล

แต่เพราะการนั่งคุยกับฟอสซิลหรือกับปลา มนุษย์ที่ไม่ค่อยรู้วิธีปฏิสัมพันธ์แบบผมน่าจะทำได้ดีกว่าการคุยกับผู้คน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

-พุทธจัดในศรีลังกาและการฆ่าในนามของศาสนา-

-คน 7,626 คนมีทรัพย์สิน 2.1 ล้านล้านบาท คน 12.2 ล้านคน มีเงินในบัญชีไม่เกิน 500 บาท-

-Crossing the Rubicon River-