-เทพเจ้าก็ไม่รู้หรอกว่าความดีคืออะไร-

ในแง่ความคลาสสิก ปกรณัมปรัมปรา ตำนานเทพและวีรบุรุษกรีก-โรมัน-นอร์ส ของเอดิธ แฮมิลตัน หรือ ‘Mythology’ เรียกว่าอยู่ในระดับขึ้นหิ้ง ผมเข้าใจว่านักศึกษาวรรณกรรมอังกฤษ งานชิ้นนี้ ไม่อ่านไม่ได้ เล่มนี้พิมพ์โดยสำนักพิมพ์อมรินทร์ แปลโดยนพมาส แววหงส์

กับผมที่ไม่ได้เรียนวรรณกรรมอังกฤษ หนังสือเล่มนี้ช่วยขยายจักรวาลของเหล่าเทพเจ้ากรีกว่ามีชื่ออะไร มีสาแหรกอย่างไร สร้างวีรกรรมและวีรเวรใดไว้บ้าง รวมถึงการเล่ามหากาพย์อิเลียดและโอดิสซีย์ไว้อย่างย่นย่อ ชักจูงให้ผมต้องไปหาฉบับแปลไทยของทั้งสองเล่มมาอ่าน

ไม่แน่ใจว่าจำเป็นต้องเล่าถึงปกรณัมต่างๆ ในเล่มหรือไม่ เพราะเชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยรับรู้ รับฟังกันมาบ้างแล้ว

แต่ผมขอเล่าสักหนึ่งเรื่องที่ชวนไตร่ตรองว่า เหตุเพียงเล็กน้อยก็สามารถลุกลามบานปลายสู่ความริษยาและอาฆาต การเข่นฆ่าและสงคราม ความตายและโศกนาฏกรรมได้ ผมกำลังหมายถึงสงครามกรุงทรอยที่ถูกเล่าขานในอิเลียดซึ่งเชื่อกันว่าประพันธ์โดยโฮมเมอร์

เจ้าชายปารีสลักพาตัวเฮเลน หญิงผู้มีรูปโฉมงดงามที่สุดในโลกเวลานั้น อันเป็นต้นเหตุให้ทรอยประสบหายนะ นี่เป็นสิ่งที่ผมเข้าใจมาตลอด ไม่ผิด ทว่า มันยังมีสาเหตุของสาเหตุอยู่อีก

ในงานอภิเษกของกษัตริย์เพลิอัสและนางพรายทะเลเธทิส เทพและเหล่ามนุษย์มากมายถูกเชิญมาร่วมงาน ยกเว้นเอริส เทพกัญญาแห่งความบาดหมาง เพราะซุสราชาของเหล่าเทพแห่งโอลิมปัสไม่ต้องการให้เกิดเรื่องไม่ดีขึ้นภายในงาน แต่ดูเหมือนว่าชะตากรรมมีหน้าที่ของมันที่แม้แต่เทพก็ไม่อาจยับยั้ง เอริสโกรธเคืองต่อสิ่งที่ตนได้รับ เธอจึงโยนผลแอปเปิ้ลทองคำเข้าไปในงาน มันคงจะไม่มีอะไรถ้าบนผลแอปเปิ้ลมิได้สลักไว้ว่า สำหรับผู้งดงามที่สุด

เทพกัญญา 3 องค์-เฮรา, อธีนา และอะโฟรไดทิ ต่อล้อต่อเถียงว่าตนควรเป็นผู้ครอบครองผลแอปเปิ้ลทองคำ พวกนางให้ซุสเป็นผู้ตัดสิน แต่เขาก็รู้ดีว่าไม่ควรหาเรื่องใส่ตัว ภาระนี้จึงถูกโยนให้แก่เจ้าชายปารีส ทั้ง 3 ล้วนเสนอสินบนที่มนุษย์ไม่น่าจะปฏิเสธได้ น่าแปลกที่เทพกัญญาทั้ง 3 กลับไม่เกิดคำถามบ้างหรือว่า การให้สินบนแลกกับคำตัดสินว่า งดงามที่สุด จะเป็นความจริงได้อย่างไรหากผู้ตัดสินตัดสินเพียงเพราะรางวัลที่ตนจะได้

ปารีสเลือกให้อะโฟรไดทิเป็นผู้ครอบครองผลแอปเปิ้ลทองคำ อันเป็นสัญลักษณ์ว่าเธอคือผู้งดงามที่สุด โดยสินบนที่เธอให้แก่ปารีสคือเฮเลน หญิงงามที่สุดในโลก (ตกลงใครงดงามที่สุด) จากนั้นเรื่องราวก็ดำเนินไปสู่สงครามที่เทพแต่ละองค์ต่างก็เลือกข้าง ไม่ฝ่ายกรีกก็ฝ่ายทรอย จบลงด้วยความย่อยยับและความตาย

ผมตีความว่าชาวกรีกใช้เหล่าเทพเป็นอุปลักษณ์หรือภาพแทนของมนุษย์ หากมองในแง่รัก โลภ โกรธ หลง และอื่นๆ เทพก็ดูไม่ต่างจากมนุษย์เอาเสียเลย ถึงกระนั้น ชาวกรีกในยุคโบราณยังคงบูชาเทพเจ้ากันเป็นเรื่องปกติ

มันทำให้ผมคิดถึงงานเขียนของยักษ์ปรัชญา-เพลโตที่ชื่อ ยูไทโฟร ที่โสเครติสตั้งคำถามทำนองว่า เทพเจ้าบอกว่าสิ่งใดเป็นสิ่งดีเพราะสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี? หรือว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดีเพราะเทพเจ้าบอกว่าเป็นสิ่งดี? ผู้ที่คุ้นเคยกับปรัชญาคงรู้ว่านี่เป็น Big Question เนื่องจากทั้งสองเงื่อนไขนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง

ข้อแรกหมายความว่า ความดีนั้นดำรงอยู่อย่างอิสระจากเหล่าเทพ และเพราะมันดี เทพเจ้าจึงบอกว่าเป็นสิ่งดี

ข้อ 2 หมายความว่า ความดีนั้นขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของเหล่าเทพ และเพราะเทพเจ้าบอกว่าดี มันจึงเป็นสิ่งดี

เอาเข้าจริง ผมก็เคยถามตัวเองเหมือนกันว่า การที่ผมทำบางสิ่งที่เรียกว่าความดี เป็นเพราะมันดีโดยตัวมันเอง ผมจึงทำ หรือผมรู้ว่ามันดี ผมจึงทำเพื่อให้ผู้อื่นเห็นว่าผมดี มันก็จะงงๆ หน่อย

สรุปคือผมคิดว่าเหล่าเทพเจ้าเองก็ไม่แน่ใจหรอกว่า ความดีคืออะไรกันแน่

สิ่งที่น่าพิศวงคือมนุษย์เชื่อว่าตนเองรู้และในบางกรณีก็มั่นใจอย่างมืดบอดว่า ความดีคืออะไร พลันที่เชื่อว่าตนยืนอยู่ฝั่งฟากความดีแล้วล่ะก็ อีกฟากฝั่งย่อมกลายเป็นความชั่วร้ายที่ต้องถูกกำจัด

...เป็นโศกนาฏกรรมที่น่าเศร้า ว่าไหมครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

-พุทธจัดในศรีลังกาและการฆ่าในนามของศาสนา-

-คน 7,626 คนมีทรัพย์สิน 2.1 ล้านล้านบาท คน 12.2 ล้านคน มีเงินในบัญชีไม่เกิน 500 บาท-

-Crossing the Rubicon River-