-และรู้ว่าเรากำลังสู้กับอะไรก็พอ-
ผมเป็นคนหนึ่งที่ฝึกศิลปะการต่อสู้
หยุดบ้าง ซ้อมบ้าง ถึงตอนนี้กินเวลากว่า 2
ทศวรรษแล้ว และยังคงฝึกซ้อมอยู่
ผมเหมือน
Joe Hyams
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ตรงที่ชอบทำความรู้จักและเรียนรู้ศิลปะการต่อสู้หลากหลายชนิด
เริ่มตั้งแต่มวยไทยโบราณสายหนึ่ง ไอคิโด มวยสากล บราซิลเลี่ยน จูจิตสึหรือบีเจเจ
แล้วก็คาราเต้สายโกจูริว มวยจีน เทควันโด ยูโด คาโปเอร่า และอื่นๆ ตามโอกาส
อย่างละนิดละหน่อย ศิลปะการต่อสู้ 4
ประเภทแรกผมใช้เวลากับมันค่อนข้างนานกว่าชนิดอื่น
‘เซนในศิลปะการต่อสู้’ บอกเล่าเรื่องราวการฝึกฝนและเชื่อมโยงแนวคิดระหว่างศิลปะการต่อสู้กับศาสนาพุทธนิกายเซน และการนำสองสิ่งนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นหนังสือเก่าทีเดียว เล่มที่ผมมีเป็นฉบับครั้งที่ 5 ปี 2546 หนังสือระบุจำนวนครั้งในการพิมพ์ถอยกลับไปถึงเพียงครั้งที่ 3 คือปี 2531 แปลโดยวันทิพย์ สินสูงสุด สำนักพิมพ์สายใจ
ดูจากหน้าปก
หน้าเครดิต และเนื้อหาด้านใน
เข้าใจว่าเป็นการแปลและพิมพ์ในช่วงที่เรื่องลิขสิทธิ์ยังไม่เข้มงวดเท่าปัจจุบัน
ทั้งตัวผู้แปลเองก็เป็นไปได้ว่าไม่มีความรู้เกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้มากนัก
ที่ผมกล้าพูดเช่นนี้เพราะมีเนื้อความที่แปลว่า “...ผมจะแสดง ‘คาถา’
หรือแบบฝึกหัดหลายอย่างที่ผมเคยเรียน” Joe Hyams
ฝึกคาราเต้มาก่อน อนุมานได้ทันทีว่าผู้แปลแปลจากคำว่า kata-กาตะหรือกาต้า แล้วแต่ออกเสียง
ซึ่งหมายถึงชุดท่ารำของคาราเต้ ไม่ใช่ ‘คาถา’ แน่นอน หรือการแปลคำว่า ki ในไอคิโดว่า ‘คี’
ซึ่งควรแปลโดยออกเสียงว่า คิ
ความคิดของ
Joe Hyams ก็คือศิลปะการต่อสู้ไม่ใช่เพียงการฝึกฝนและขัดเกลาทักษะทางด้านร่างกายเท่านั้น
หากยังเป็นการฝึกฝนและขัดเกลาทางใจ หรืออาจรวมถึงจิตวิญญาณด้วย ตามวิถีของเซน
เขาอ้างอิงคำพูดของชาวพุทธว่า ทุกแห่งล้วนเป็นโดโจ (โดโจคือโรงฝึก)
และเซนเซหรืออาจารย์ผู้สอนศิลปะการต่อสู้เปรียบได้กับคุรุเซน
ที่ทั้งไม่แสวงหาและไม่ผลักไสศิษย์ และสอนศิษย์ให้เข้าใจภาวะภายในของตน
มีหลายบทที่ชวนไตร่ตรอง
เช่น ‘ทำเส้นของคุณให้ยาวขึ้น’ Joe Hyams
เล่าถึงการซ้อมต่อสู้เคมโป คาราเต้กับคู่ต่อสู้ที่หนุ่มกว่า แข็งแรงกว่า
และนิ่งกว่า เขาพ่ายแพ้ อาจารย์ของเขาที่ชื่อเอ็ด พาร์กเกอร์
สังเกตเห็นความว้าวุ่นของ Joe
Hyams
เขาตอบอาจารย์ว่า “เพราะผมทำอะไรเขาไม่ได้เลย”
เอ็ด
พาร์กเกอร์ หยิบชอล์กแท่งหนึ่ง แล้วขีดเส้นยาว 5 ฟุต
ถาม Joe Hyams จะทำให้เส้นนี้สั้นลงได้อย่างไร?
คุณคิดว่าต้องทำอย่างไร?
ตัดมันออก? ลบมันออก? แบ่งส่วน?
แล้วเอ็ดก็เฉลยคำตอบที่ทั้ง
Joe Hyams และผมคาดไม่ถึง
เขาขีดอีกเส้นหนึ่งที่ยาวกว่าเส้นแรก ทำให้เส้นยาว 5
ฟุตสั้นลงทันที เพราะในความเป็นจริงเราตัดเส้นหรือก็คือการฝึกซ้อมของอีกฝ่ายไม่ได้
เราทำได้เพียงขยายเส้นของเราให้ยาวขึ้น
Joe Hyams ยังโชคดี ได้ฝึกจีทคุนโดกับบรู๊ซ ลี
ยอดนักศิลปะการต่อสู้ ซึ่งบรู๊ซ ลีบอก Joe Hyams ว่า เขาจะเรียนรู้อะไรใหม่ไม่ได้เลย
หากไม่เรียนรู้ข้อจำกัดของตนเสียก่อน บรู๊ซ ลี
จึงเล่าว่าการที่ตนฝึกศิลปะการต่อสู้ก็เนื่องจากข้อจำกัดเช่นกัน บรู๊ซ ลี
สายตาสั้นตั้งแต่เด็ก ถ้าคู่ต่อสู้ไม่อยู่ในระยะประชิด เขาก็มองไม่เห็น
นี่คือเหตุผลที่เขาเลือกฝึกมวยหย่งชุนเป็นสิ่งแรกกับปรมาจารย์ยิปมัน
ซึ่งคอหนังชาวไทยน่าจะรู้จักกันดี
คงเห็นได้ว่า
2 บทเรียนนี้นำไปประยุกต์ใช้ได้กับชีวิตประจำวัน
ไม่ใช่แค่บนสังเวียน
หลังอ่านจบ
ผมเกิดคำถามในใจข้อหนึ่งว่า เหตุใดครูมวยยุคห้าสิบหกสิบปีก่อนจึงแนะนำด้านจิตใจและวิธีคิดแก่ผู้เรียน
ขณะที่ปัจจุบันกลับไม่ค่อยปรากฏ อย่างน้อยก็จากประสบการณ์ของตัวผมเอง
คำตอบเท่าที่พอนึกออก
ครูมวยยุคก่อนยังคงสืบทอดแนวทางการสอนจากครูมวยรุ่นก่อนหน้า ไม่ใช่เพียง ‘ผู้ฝึกสอน’ แต่เป็น ‘ผู้ขัดเกลา’ ด้วย อีกทั้งในอดีตจำนวนผู้เรียนและคลาสอาจไม่มากเท่ายุคนี้
ทำให้ครูมวยมีเวลาทุ่มเทให้กับผู้เรียน ทั้งด้านทักษะการต่อสู้และจิตใจ ตรงข้ามกับปัจจุบันที่ทุกอย่างราคาสูงขึ้น
การฝึกซ้อมศิลปะการต่อสู้มีความเป็นธุรกิจและกีฬาสูง ครูมวยจึงทำหน้าที่ได้เพียงผู้ฝึกสอนด้านทักษะทางร่างกาย
ขณะเดียวกัน ผมก็ไม่คิดว่าคนยุคนี้จะต้องการคำชี้แนะทางจิตใจและจิตวิญญาณจากผู้ฝึกสอนแล้ว
อ่านถึงตรงนี้อาจคิดว่าผมกำลังตำหนิติเตียนการสอนศิลปะการต่อสู้ในปัจจุบัน
เปล่า, ผมมองว่ามันเป็นความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่ยากหลีกเลี่ยง อันที่จริง
รูปแบบการสอนศิลปะการต่อสู้ในปัจจุบันก็มีข้อดีประการสำคัญที่การฝึกสอนในแบบดั้งเดิมหรือ
traditional ไม่มี นั่นก็คือ ‘การพัฒนา’
ไม่ได้จะบอกว่าศิลปะการต่อสู้สมัยก่อนหยุดนิ่งกับที่นะครับ
มันต้องมีการปรับ ประยุกต์ ดัดแปลงอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะช้ากว่า โดยเฉพาะวิธีการฝึกซ้อมที่มักยึดติดกับของเดิมก็ทำให้ศิลปะการต่อสู้ดั้งเดิมถูกท้าทายจากศิลปะการต่อสู้ยุคใหม่โดยเฉพาะศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานหรือ
MMA ซึ่งพัฒนาทั้งเทคนิคและวิธีการฝึกซ้อมเร็วมาก
ผสานกับวิทยาศาสตร์การกีฬา โภชนาการ และอื่นๆ ตัดสิ่งที่มองว่าฟุ่มเฟือยออกไป คงไว้เฉพาะเทคนิคที่มีประสิทธิภาพเท่านั้น
ตลอดกว่า
2 ทศวรรษที่ผมฝึกศิลปะการต่อสู้
สิ่งที่พบเจอไม่เคยห่างหายคือการเมือง มิตรต้องแตกแยกกันเพราะวิธีคิดในการสืบทอดวิชาต่างกัน
รุ่นพี่-รุ่นน้องต้องหมางเมินกันเพราะแย่งชิงความเป็นของแท้ และที่มีอยู่เสมอมาและน่าจะเสมอไปคือความเชื่อว่าศิลปะการต่อสู่ที่ตนฝึกนั้นดีที่สุด
อะไรทำนองนี้ทำผมหยุดฝึกไปช่วงใหญ่ๆ ทีเดียว
สรุปคือมันเป็นเรื่องของจริตล้วนๆ
ชอบแบบไหน ฝึกแบบนั้น ตั้งเป้าหมายอะไรไว้ก็ดั้นด้นไปให้ถึง
และรู้ว่าเรากำลังสู้อะไรก็พอ
อยากเล่าเพิ่มเติมอีกว่า
เมื่อครั้งฝึกศิลปะการต่อสู้ใหม่ๆ ผมก็เหมือนหลายๆ คนนั่นแหละ
คือฝันว่าจะเป็นยอดฝีมืออันดับ 1 ขยัน ตั้งอกตั้งใจฝึกซ้อมเทคนิค
แต่ก็ต้องเผชิญความพ่ายแพ้เป็นระยะ ยิ่งตอนฝึกบีเจเจด้วยแล้ว ความพ่ายแพ้เป็นสิ่งที่ผมแบกกลับมาเสมอหลังฝึกเสร็จ
เนื่องจากผมเป็นคนตัวเล็ก การต้องปล้ำบนพื้นกับคู่ซ้อมที่ตัวใหญ่กว่า
น้ำหนักมากกว่า หมายความว่าผมต้องมีเทคนิคที่เหนือกว่ามากทีเดียว พยายามแล้วพยายามเล่าก็ยังแพ้มากกว่าชนะ
สุดท้ายการฝึกศิลปะการต่อสู้ของผมจึงเป็นการสู้กับตนเองมากกว่า
ใช้มันเป็นเครื่องพิสูจน์ความทนทานต่อความพ่ายแพ้ของตัวเอง
‘ในวัย 40 ผมกลับมาฝึกซ้อมมวยสากล
การวิ่งมาราธอนมอบปอด หัวใจ และกล้ามเนื้อขาที่ทรงพลังให้ผมยืนระยะการซ้อมได้โดยไม่เหนื่อยสักเท่าไหร่ ผมถามเทรนเนอร์ว่า กีฬาชกมวยมีแบ่งรุ่นอายุหรือเปล่า? คำตอบคือไม่มี อาจพูดได้ว่านี่เป็นคำถามที่ไม่เจียมเนื้อตัวเอาเสียเลย
เพราะมันกำลังบอกว่าผมอยากขึ้นชก ทั้งที่รู้ว่าโอกาสชนะแทบไม่มี คนรอบข้างก็ห่วงว่าผมจะโดนน็อกหรือเจ็บหนัก
แล้วผมก็ไม่ใช่จอร์จ โฟร์แมนที่จะสามารถทวงบัลลังก์แชมป์ได้อีกครั้งในวัย 45 …ผมเชื่อว่าในการซ้อมไม่ว่าจะมวยสากล
บีเจเจ หรืออื่นๆ ในอนาคต ไม่มีทางที่ผมจะหนีพ้นความพ่ายแพ้ แต่นั่นไม่สำคัญแล้วสำหรับผมในตอนนี้
‘สิ่งที่สำคัญกว่า ผมอยากรู้ว่าตนเองจะทนแบกรับปริมาณความพ่ายแพ้ได้มากแค่ไหน
เพราะมันอาจบ่งบอกว่าผมแข็งแกร่งได้แค่ไหน’
เพราะไม่ว่านักศิลปะการต่อสู้คนใดก็ล้วนมีคู่ต่อสู้ที่ไม่มีวันชนะร่วมกัน-เวลา
ข้อความใน ‘…’ ผมเคยเล่าไว้ใน หมัดที่คลายออก
ความคิดเห็น