-เราจะพบว่าตัวเองเปล่าเปลี่ยวเดียวดายมากขึ้นเรื่อยๆ-


22 เมษายน 1970 หรือปี 2513 เกิดการชุมนุมของคนอเมริกัน 20 ล้านคน เรียกร้องให้โลกเห็นปัญหาเร่งด่วนด้านสิ่งแวดล้อม เป็นจุดเริ่มต้นของวันคุ้มครองโลกที่เราคุ้นชื่อในปัจจุบัน

50 ปีผ่านนับจากวันคุ้มครองโลกครั้งแรก โลกเราจะไปทางไหนต่อในอีก 50 จากนี้? เป็นคำถามที่น่าสนใจที่ทำให้ผมตัดสินใจซื้อ NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับภาษาไทยประจำเดือนเมษายน เมื่อ NG ให้คำตอบ 2 ความเป็นไปได้คือเรารักษาโลกไว้ได้และเราสูญเสียโลกไป

คำตอบแรกดูจะไม่หนักแน่นมั่นคงสักเท่าไหร่ในความคิดผม ผู้เขียนในส่วนนี้พยามยามแสดงให้เห็นว่ามุนษย์พัฒนาเทคโนโลยีสุดล้ำมากมาย ซึ่งมันจะช่วยให้เราดูแลโลกนี้ได้ รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานนิวเคลียร์สะอาด โดรนสำหรับผสมเกษร พลังงานสะอาดรูปแบบต่างๆ ที่จะมาทดแทนพลังงานฟอสซิล รวมถึงการนำเสนอคนรุ่นใหม่ๆ ที่พยายามเรียกร้องหรือทำอะไรบางอย่างเพื่อสิ่งแวดล้อม

ในส่วนของคำตอบแรกมีตอนหนึ่งที่มอบให้กับการขับรถยนต์ไฟฟ้าข้ามประเทศสหรัฐฯ จากฝั่งตะวันตกสู่ฝั่งตะวันออก และแวะเล่าเรื่องราวระหว่างทางถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่ว่า

ทว่า มันดูเป็นการเล่าเรื่องราวที่สัมพันธ์กับบริบทของอเมริกาและโลกตะวันตกมากกว่าโลกทั้งใบ

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ เท่าที่ผมจำเนื้อหาได้ ไม่มีการพูดถึงการลดการบริโภค

ในส่วนของคำตอบที่ 2 กลับดูหนักแน่นมั่นคงกว่ามาก เพราะขณะที่คำตอบแรกฝากไว้กับการคาดคะเนและความหวัง คำตอบที่ 2 ปักหลักบนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้วและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นถี่และรุนแรงมากขึ้น ทั้งไฟป่า น้ำท่วม พายุ คลื่นความร้อน การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล น้ำแข็งขั้วโลกละลาย การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต

ข้อมูลระบุว่าในอีก 50 ปีข้างหน้า เมืองฟินิกซ์ ในสหรัฐอเมริกาจะมีภูมิอากาศเหมือนบาลูจิสถานในปากีสถาน คลื่นความร้อนจะเกิดถี่ขึ้น ความร้อนที่เพิ่มต่อเนื่องยังจะทำให้งาน 43 ล้านตำแหน่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตรของเอเชียใต้ต้องหายไป กรุงฮานอยจะมีภูมิอากาศไม่เหมือนที่ใดในโลก มีสัตว์อีกกว่า 30,000 ชนิดที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

แต่เรามองเพียงปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้ เพราะมันจะส่งผลกระทบต่อเนื่องสู่ชีวิตมนุษย์ อย่างการสูญเสียตำแหน่งงานที่ว่าไป การแย่งชิงน้ำ การแย่งชิงที่ดินทำกิน ความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจน ความขัดแย้งทางสังคมที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ

ผมเชื่อว่าตนเองมีเวลาเหลือไม่มากพอจะอยู่ถึง 50 ปีข้างหน้า ถึงกระนั้น ฉากแนวหนังวันสิ้นโลกก็ฉายระยิบระยับในจินตนาการ มันอาจเป็นการคาดเดาที่เกินจริง แต่ก็ช่วยไม่ได้ ผมไม่ใช่คนมองโลกในแง่ดีสักเท่าไหร่

คำถามที่สำคัญกว่าโลกจะอยู่ต่อหรือแตกดับน่าจะอยู่ที่ว่า เราจะทำอะไรได้บ้าง ณ ปัจจุบัน อีกเช่นกัน คำพูดทำนองว่าจงเริ่มที่ตัวเรา อย่างน้อยเราก็เริ่มต้นที่จะเปลี่ยนแปลง ...สวยหรู แล้วการกระทำของปัจเจกเพียงพอแค่ไหน ผมไม่แน่ใจ ปัญหาหลายอย่างเป็นเรื่องใหญ่ระดับนโยบายที่ต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลง ในทางกลับกัน หลายเรื่องเป็นเรื่องลึกระดับจิตสำนึกภายในและพฤติกรรมซึ่งก็ต้องอาศัยเจตจำนงเฉพาะตนที่แน่วแน่ ผมไม่คิดว่า ทั้งโลกมีสิ่งเหล่านี้มากพอ อาจรวมถึงตัวผมด้วย

อนาคต เราอาจมีเทคโนโลยีโดรนผสมเกสรแทนผึ้ง ผีเสื้อ และแมลงอื่นๆ เราอาจสร้างเนื้อปลาสังเคราะห์ได้โดยไม่ต้องอินังขังขอบกับปริมาณปลาที่ลดลงอย่างรวดเร็วในมหาสมุทร และอีกมากมาย แต่...

‘…มนุษย์อาจประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์โดรนช่วยผสมเกสร (ปัจจุบันมีการทดสอบใช้แล้ว) และอาจคิดหาวิธีจัดการกับระดับทะเลที่กำลังสูงขึ้น พายุที่เกรี้ยวกราดขึ้น และภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นได้ พืชดัดแปรพันธุกรรมชนิดใหม่ๆ อาจช่วยให้เรามีอาหารเลี้ยงประชากรที่เพิ่มขึ้นได้แม้ขณะที่โลกร้อนขึ้น เราอาจค้นพบว่าถึงที่สุดแล้ว “สายใยแห่งชีวิตที่เชื่อโยงสัมพันธ์กัน” ไม่ใช่ปัจจัยจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์

สำหรับบางคน ทั้งหมดนี้อาจฟังดูเหมือนผลลัพธ์ที่น่ายินดี แต่ในความคิดของฉัน นี่เป็นความเป็นได้ที่น่ากลัวกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะหมายความว่า เราสามารถเดินไปตามเส้นทางในปัจจุบันต่อไปอย่างไร้ที่สิ้นสุด นั่นคือ ทำให้ชั้นบรรยากาศเปลี่ยนไป พื้นที่ชุ่มน้ำเหือดหาย มหาสมุทรว่างเปล่า ท้องฟ้าปราศจากสิ่งมีชีวิต และเมื่อปลดแอกตนเองจากธรรมชาติได้แล้ว เราจะพบว่าตัวเองเปล่าเปลี่ยวเดียวดายมากขึ้นเรื่อยๆ เว้นแต่อาจจะมีโดรนแมลงของเราคอยเป็นเพื่อน

ข้อความของเอลิซาเบท โคลเบิร์ตที่ทิ้งท้ายไว้ในสารคดีเรื่อง เหตุผลของคนมองโลกแง่ร้าย

ผมเห็นด้วยกับเธอ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

-เมื่อเราฆ่ากันในนามศาสนา เราจะไม่ปราณีและออมมือ-

-ความรักที่ไม่โรแมนติก "ความรักเป็นทักษะ ไม่ใช่ความรู้สึก"-

-พุทธจัดในศรีลังกาและการฆ่าในนามของศาสนา-