-ความทรงจำเป็นสิ่งล้ำค่าต่อการดูแล-



ใช่ ผมรู้ว่าการ romanticize บางทีก็มีปัญหา

ถึงกระนั้น ผมสารภาพว่า ‘Humanitude ฮิวแมนนิจูด แนวคิดและเทคนิคใหม่ในการดูแลคนในครอบครัว’ เป็นหนังสือเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุที่อ่อนโยนและละมุนละไมเหลือเกิน ทั้งที่โดยทั่วไปหนังสือแนวนี้มักเต็มไปด้วยเรื่องทางเทคนิค สาเหตุของการป่วย อาการ วิธีการดูแล ชึ่งทำให้ผู้อ่านเบื่อเสียก่อนจะอ่านจบและนำไปปฏิบัติ

แต่ Humanitude ไม่ใช่ หนังสือเล่มนี้เขียนร่วมกัน 3 คนคืออีฟส์ ฌีเนสเตอ, โรเซตต์ มาเรสก็อตติ และฮนดะ มิวะโกะ สองคนแรกเป็นชาวฝรั่งเศส ผู้วาดภาพประกอบคืออากิโกะ ฮากิวาระ แปลโดยอนงค์ เงินหมื่น โดยสำนักพิมพ์ SOOK Publishing มันเป็นคำที่ประสมขึ้นใหม่ในภาษาฝรั่งเศสแปลว่า ‘การนำความเป็นมนุษย์กลับคืนมา’

คำว่า ‘ความเป็นมนุษย์’ ในปรัชญาแบบ Humanitude คือ คนเราจะดำรงชีวิตในฐานะมนุษย์ได้ก็ต่อเมื่อคนที่อยู่ด้วยกันนั้นยอมรับว่า คุณเป็นมนุษย์คนหนึ่ง
เมื่อเป็นเช่นนี้ หัวใจของ Humanitude ในการดูแลผู้ป่วยจึงมี 2 ประการ ได้แก่ การสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับอีกฝ่ายและการไม่ช่วงชิงเอาความสามารถของบุคคลนั้นไป ข้อแรกนั้นเข้าใจได้ไม่ยาก ส่วนข้อ 2 กระทบใจผมทันทีที่อ่าน ลองนึกถึงการดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่ร่างกายอ่อนแอ เรามักเชื่อว่าเขาคงไม่มีแรงที่จะอะไรได้ด้วยตัวเองอีกแล้ว เราจึงทำให้ทุกๆ อย่าง นี่แหละคือการช่วงชิงความสามารถของบุคคลนั้นไปด้วยการทำสิ่งที่เขาเคยทำได้มาก่อน แม้ว่าเราจะทำไปด้วยความหวังดีก็ตาม

หนังสือเล่มนี้เน้นการดูแลผู้สูงอายุที่มีอาการสมองเสื่อม (dementia) ผู้เขียนทั้ง 3 เริ่มด้วยการอธิบายการทำงานของความทรงจำ ซึ่งแบ่งเป็นความทรงจำระยะสั้นและระยะยาว

หัวใจของ Humanitude ในการดูแลผู้ป่วยจึงมี 2 ประการ ได้แก่ การสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับอีกฝ่ายและการไม่ช่วงชิงเอาความสามารถของบุคคลนั้นไป

ในผู้ป่วยสมองเสื่อมความทรงจำระยะสั้นจะสลายไปอย่างรวดเร็ว เราคงรำคาญ ถ้าใครถามเราด้วยคำถามเดิมๆ ซ้ำกัน 10 ครั้ง ทว่า สำหรับผู้ป่วยสมองเสื่อมมันคือคำถามแรกเสมอ

ส่วนความทรงจำระยะยาวแบ่งเป็น 4 ประเภทคือความจำอาศัยความหมาย-คำศัพท์ ใบหน้า ความรู้ ความจำอาศัยเหตุการณ์-การแต่งงาน เรียนจบ ความจำเชิงกระบวนวิธี-การใส่เสื้อผ้า การกิน และความจำที่ประกอบกับอารมณ์ความรู้สึก โดยความจำ 2 ชนิดแรกจะค่อยๆ เลือนหายไปก่อน ส่วนความทรงจำเชิงกระบวนวิธีจะหล่นหายเป็นส่วนเสี้ยว

แต่ความทรงจำที่ประกอบกับอารมณ์ความรู้สึกจะหลงเหลืออยู่ตราบวาระสุดท้าย!

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี เช่น ความภูมิใจที่ว่ายน้ำเป็นครั้งแรก ความรักครั้งแรก การเดินทางท่องเที่ยวที่ตราตรึง เป็นต้น และการกระตุ้นความทรงจำประเภทนี้ยังช่วยให้นำความจำชนิดอื่นๆ กลับมาด้วย

เทคนิค 4 ประการของการดูแลแบบ Humanitude ข้อแรกคือการสบตา ฟังดูเหมือนง่ายใช่มั้ยครับ ลองนึกดูว่าครั้งล่าสุดที่คุณสบตาคู่สนทนาคือเมื่อไหร่ การสบตากับผู้ป่วยสมองเสื่อมยังมีรายละเอียดมากกว่านั้น เนื่องจากลานสายตาของผู้ป่วยจะแคบลง การเข้าหาทางด้านข้างหรือเข้าไปใกล้ๆ ทันที ผู้ป่วยอาจไม่รู้สึกตัวหรือตกใจ ดังนั้น ต้องส่งสัญญาณก่อนทุกครั้ง เข้าหาจากด้านหน้าในระยะห่างแล้วค่อยขยับเข้าใกล้

การพูด ให้พูดด้วยน้ำเสียงโทนต่ำ ใช้ถ้อยคำเชิงบวก และไม่หยุดพูดกลางคัน ที่สำคัญต้องใจเย็นและอ่อนโยน อย่านิ่งเงียบเพราะจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถูกปฏิเสธการมีตัวตน

การสัมผัส Humanitude ถือว่าการสัมผัสเป็นการสื่อสารอย่างหนึ่ง ผู้ดูแลจะต้องลงสัมผัสให้มีพื้นที่กว้าง มั่นคง และใส่ใจกับน้ำหนักของการสัมผัส เช่น การเข้าไปกุมข้อมืออาจทำให้ผู้ป่วยต่อต้านเพราะรู้สึกถูกควบคุมตัว ถ้าต้องการยกแขนของผู้ป่วยควรช้อนจากด้านล่าง มือหนึ่งช้อนที่บริเวณข้อมือ อีกมือช้อนบริเวณข้อศอก เป็นต้น

ข้อสุดท้ายคือการจัดท่าทางในแนวตั้งตรง หมายถึงการให้ผู้ป่วยลุกขึ้นนั่งหรือยืนให้ได้วันละ 20 นาที ไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกัน ตามแต่จังหวะชีวิต แต่ให้ครบ 20 นาทีใน 1 วัน มันจะช่วยไม่ให้ผู้ป่วยติดเตียง

จากเทคนิค 4 ข้อก็มาถึงขั้นตอนการดูแล 5 ขั้นตอน ประกอบด้วย เตรียมตัวก่อนพบกันเป็นการบอกให้รู้ถึงการมาเยือน เตรียมตัวก่อนดูแลหรือสร้างสัมพันธภาพที่ดี เชื่อมโยงการรับรู้หรือลงมือดูแล ตราตรึงความรู้สึกหรือนึกถึงช่วงเวลาดีๆ ที่มีร่วมกัน และสัญญาว่าจะพบกันอีกหรือเชื่อมโยงไปสู่การดูแลครั้งต่อไป

ในช่วงท้าย มีการแนะนำหลายอย่างเพื่อจัดการกับสภาพอาการของผู้ป่วยสมองเสื่อมที่มักเกิดขึ้น อย่างเวลาที่ผู้ป่วยรู้สึกกังวลและกระวนกระวายใจ หนังสือบอกว่า

“การนำ “ความจำเชิงกระบวนวิธี” และ “ความทรงจำที่ประกอบกับอารมณ์ความรู้สึก” มาใช้ โดยการให้ผู้ป่วยทำงานที่ตนเองมีความมั่นใจร่วมกับเรา หรือพูดคุยกันถึงเรื่องความทรงจำที่สนุกสนานในอดีต จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดูแล”

หนังสือกล่าวว่า “ความทรงจำเป็นสิ่งล้ำค่าต่อการดูแล” ผู้ดูแลจำเป็นต้องรู้เรื่องราวชีวิตผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยให้สื่อสารกับผู้ป่วยได้ดีและบอกกับผู้ป่วยว่า “ฉันให้ความสำคัญกับคุณ”

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ ผู้ป่วยสมองเสื่อมอยู่ใน ‘เวลา’ ที่ต่างกับเรา ผู้ป่วยอาจจะออกไปรับลูกที่โรงเรียน ทั้งที่ลูกๆ มีครอบครัวไปหมดแล้ว แต่นั่นแหละ มันคือความทรงจำของผู้ป่วย ณ เวลานั้น มันคือปัจจุบันและความจริงของเขา

มีรายละเอียดอีกมากที่ผมบอกเล่าได้ไม่หมด แต่คงรู้สึกเหมือนผมได้ว่า การดูแลแบบ Humanitude อ่อนโยนและละเอียดอ่อนต่อความเป็นมนุษย์จัง

หนังสือกล่าวว่า “ความทรงจำเป็นสิ่งล้ำค่าต่อการดูแล” ผู้ดูแลจำเป็นต้องรู้เรื่องราวชีวิตผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยให้สื่อสารกับผู้ป่วยได้ดีและบอกกับผู้ป่วยว่า “ฉันให้ความสำคัญกับคุณ”

แน่นอนว่าการดูแลผู้ป่วยที่ต้องได้รับการพึ่งพิงตลอดเวลาเป็นเรื่องหนักหนาสำหรับครอบครัว ในสังคมไทยที่ช่องว่างความเหลื่อมล้ำมากมาย คนมีฐานะจำนวนน้อยไม่ใช่เรื่องยากเย็น กับคนอีกจำนวนมากที่ฐานะปานกลางหรือยากจน การดูแลลักษณะนี้มีต้นทุนที่สูงอย่างยิ่ง นี่จึงไม่ใช่เรื่องเฉพาะบุคคล หากเป็นสิ่งที่รัฐและสังคมต้องเข้ามาร่วมโอบอุ้ม

รู้สึกเหมือนผมไหมว่า Humanitude ไม่ใช่แค่วิธีการดูแลผู้ป่วยหรอก

มันคือวิธีการดูแลคนรอบข้าง การทะนุถนอมความทรงจำที่มีร่วมกัน การปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างอ่อนโยน ให้ความสำคัญ และคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของกันและกัน

ผมเคยพูดกับคนใกล้ตัวหลายครั้งว่า สำหรับผม อัลไซเมอร์เป็นโรคที่เจ็บปวดที่สุด เจ็บปวดยิ่งเสียกว่ามะเร็ง ความเจ็บปวดอาจไม่ได้มาจากตัวโรคโดยตรง แต่มันทิ่มแทงหัวใจเราด้วยการ ‘ลืมเลือน’ กับหนอนหนังสือ หากวันหนึ่งคุณลืมวิธีอ่าน คุณลืมว่าอ่านไปถึงบรรทัดไหน การเปิดหนังสือเล่มเดิมทุกครั้งคือการอ่านเล่มใหม่ทุกครั้งและได้ไม่เกินหน้าแรก คุณจะรู้สึกอย่างไร

การ ‘รู้ตัว’ ว่าเราจะค่อยๆ หลงลืมคนที่เรารักนั้นแสนเจ็บปวด แม้ว่าเมื่อถึงตอนที่ความทรงจำสูญสลายไปแล้ว เราอาจไม่รู้สึกเจ็บปวดอีกก็ตาม ทว่า คนที่เรารักก็คงเจ็บปวดไม่ด้อยกว่า เมื่อเขารู้ตัวว่าได้กลายเป็นคนแปลกหน้าสำหรับเราไปแล้ว

ช่วงเวลาที่มีอยู่ตอนนี้ต่างหากจึงสำคัญที่จะร่วมกันต่อเติมความทรงจำก่อนมันจะเลือนหายไป

เพราะความทรงจำเป็นสิ่งล้ำค่าต่อการดูแล...

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

-พุทธจัดในศรีลังกาและการฆ่าในนามของศาสนา-

-คน 7,626 คนมีทรัพย์สิน 2.1 ล้านล้านบาท คน 12.2 ล้านคน มีเงินในบัญชีไม่เกิน 500 บาท-

-Crossing the Rubicon River-