-อ่านการ์ตูนแบบซีเรียส: เมื่อรัฐสร้างศัตรูเพื่อคุ้มกะลาหัวตัวเอง-
หนังสือการ์ตูนหรือที่เรียกว่า มังงะ
(คือสมัยผมเด็กๆ ยังไม่รู้จักคำนี้) เราสามารถอ่านมันได้หลายแบบ
ผมเชื่อด้วยว่ามังงะเล่มเดียวกัน หากในช่วงเวลา วัย หรือสถานที่ที่แตกต่างกัน
ความสนุก อารมณ์ ความรู้ที่ได้ก็น่าจะแตกต่างกัน
ผมก็เหมือนคนเจนเอ็กซ์ทั่วไปที่เติบโตมากับหนังสือการ์ตูนที่สมัยนั้นยังไม่ติดลิขสิทธิ์เหมือนเดี๋ยวนี้
เรื่องที่ชอบคงไม่พ้นโดราเอมอน เซ็นต์เซย่า ดราก้อนบอล ประมาณนี้
แต่ความหลากหลายของประเภทมังงะ วิธีการเล่าเรื่อง ลายเส้น
พล็อตเรื่องในปัจจุบันมีมากมายกว่าการรับรู้ของผมในวัยเด็กมากต่อมาก ซึ่งผมก็เพิ่งมารู้จากหนังสือเล่มนี้
Theories
of Manga ของกฤดิกร วงศ์สว่างพานิช โดยสำนักพิมพ์ SALMON
เป็นหนังสือที่ว่าด้วยการอ่านมังงะแบบซีเรียสจริงจังตามสไตล์นักวิชาการ
แต่มันก็สนุกครับ บทต้นๆ พูดถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของมังงะและพูดถึงวิธีที่ผู้เขียนใช้อ่าน
หลังจากนั้นก็เป็นการเล่าถึงมังงะแต่ละเรื่องผ่านแว่นวิชาการมิติต่างๆ ที่ชวนสนใจ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเท่าเทียม
ดุลอำนาจในโลก เพศ ความปกติ-ผิดปกติ ความเป็นมนุษย์ ความมั่นคง การเมือง
สิ่งเหล่านี้ถูกผู้เขียนตั้งคำถามผ่านมังงะ
ขอเล่าถึงตอนที่ผมชอบเป็นพิเศษแล้วกัน
อย่างตอน Nihon
Chinbotsu: ที่สุดของมังงะภัยพิบัติกับสภาวะไร้รัฐอันสุดเรียล
ผมไม่เคยอ่านมังงะเรื่องนี้ แต่ผมมีความสนใจปรัชญาเป็นการส่วนตัว สิ่งที่ผู้เขียนนำมาเล่าถึงคือแนวคิดของโธมัส
ฮอบส์ นักปรัชญานามกระเดื่องชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 17 ที่สร้างฐานทางปรัชญาของตนจากความเชื่อที่ว่า
ธรรมชาติของมนุษย์นั้นชั่วร้ายและเห็นแก่ตัว เหตุนี้เองจึงต้องมีอำนาจรัฐที่เข้มแข็ง
เด็ดขาดเข้ามาควบคุมกำกับ มิเช่นนั้นมนุษย์จะทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอดไม่ต่างกับสงคราม
รัฐคือผู้ที่จะยุติการทำสงครามกันเองระหว่างมนุษย์ ผู้เขียนเห็นว่ามังงะเรื่องนี้สะท้อนสภาวะไร้รัฐได้จริงมาก
แน่นอนว่ามีคนที่คิดตรงข้ามกับฮอบส์นะครับ
หมายความว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นดีงาม เข้าใจว่าก็เถียงกันมาแสนนานแล้ว
ไม่รู้ว่าในวงการปรัชญาเถียงกันจบหรือยัง หรือว่าเถียงเลยประเด็นนี้ไปแล้ว
อีกตอนคือ Claymore: โลกาภิวัตน์จอมปลอมและรัฐร้ายในคราบองค์กรชายชุดดำ
(2) โดยเฉพาะหัวข้อหลังที่พูดถึงการสร้างความชอบธรรมของรัฐในการใช้อำนาจ
ซึ่งผู้เขียนอธิบายได้น่าสนใจมากว่า สิ่งที่ทำให้รัฐมีความชอบธรรมในการใช้อำนาจที่สุดก็คือ
‘ศัตรู’
รัฐจึงต้องสร้างศัตรูเสมอ
(ย่อหน้าจากนี้คือทัศนะคติทางการเมืองของผม
เผื่อเราคิดไม่ตรงกัน จึงแจ้งไว้ก่อน)
อ่านถึงตรงนี้
ผมก็ย้อนนึกถึงประเทศที่ผมพักพิงอยู่ ไม่ต่างกันเลย
รัฐบาลที่สร้างปีศาจให้ประชาชนกลัว กลัวจนกระทั่งยอมให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ยอมปิดปาก หรือแม้แต่ยอมให้จัดการศัตรูไม่ว่าจะด้วยวิธีการอะไรก็ได้
สิ่งที่รัฐบาลพูดเสมอคือภัยความมั่นคง แต่เมื่อลงรายละเอียดและตั้งคำถาม-ความมั่นคงของใครหรือของอะไร?
การบอกว่าคนคนนั้น พรรคนั้น แนวคิดนั้น เป็นภัยความมั่นคงและพยายามหาทางกำจัด
มันช่างไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย
ถ้าประเทศจะล่มสลายเพียงเพราะเหตุเท่านี้
ก็แปลว่ามันไม่ได้มั่นคงมาตั้งแต่แรกอยู่แล้วหรือเปล่า? ประเทศไทยเปราะบางถึงเพียงนั้นเชียวหรือ?
เมื่อสร้างศัตรูได้สำเร็จ งบประมาณจำนวนมากที่ควรไปอยู่กับการศึกษา สุขภาพ
สวัสดิการ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ก็ไปจมอยู่กับงบความมั่นคงที่ตรวจสอบไม่ได้
ผมขอยกถ้อยคำของผู้เขียนมาประกอบ
“จงอย่าได้ไว้ใจในรัฐของท่าน
โดยเฉพาะรัฐหรือองค์กรที่ตรวจสอบไม่ได้ วิจารณ์ไม่ได้ เห็นต่างไม่ได้
และรวบอำนาจไว้กับตนแต่เพียงฝ่ายเดียว
รัฐที่ไม่ได้ขึ้นสู่อำนาจจากการเลือกของประชาชนโดยตรง (หรือเขียนกติกาเพื่อสืบทอดอำนาจตัวเอง-ผมพูดเอง)
ยิ่งไม่มีทางเห็นค่าประชาชน และพร้อมหลอกประชาชนของพวกเขา เพื่อการดำรงอำนาจของตนให้คงอยู่ได้นานวันขึ้นเรื่อยๆ
เพราะรัฐแบบนี้ไม่ชมชอบพลวัต และรับไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลง
“เมื่อใดก็ตามที่ท่านอยู่ในรัฐแบบนี้
และเมื่อใดก็ตามที่มีการสร้าง ‘ภัย’ ที่มองไม่เห็นขึ้นมาเรื่อยๆ
พร้อมกับเน้นย้ำถึงความสำคัญขององค์กรพวกเขาที่จะต้องครองอำนาจและมีความชอบธรรมในการใช้กำลังต่อไป
เมื่อใดที่มีการปักป้ายเหยียดหยามทำให้ฝ่ายตรงข้ามกลายเป็นผู้อ่อนด้อยกว่า
ไร้ปัญญา หาเหตุผลไม่ได้ เมื่อนั้นขอให้ท่านพึงระวัง และตรวจสอบว่ารัฐผู้คุ้มครองท่านนั้นกำลังคุ้มครองท่านอยู่จริงๆ
หรือเพียงคุ้มกะลาหัวตัวเองให้อยู่ในอำนาจต่อไป”
คือคำถามที่เราจำเป็นต้องถามอย่างยิ่งท่ามกลางสถานการณ์ที่ดำรงอยู่
ความคิดเห็น