-ปรีดี หงษ์สต้น : พุทธจัดในสงครามกลางเมืองศรีลังกาและพุทธไทยที่ยังไม่จัด?-

(หลังเล่าถึงหนังสือ 'สงครามกลางเมืองศรีลังกา‘ ผมก็มีโอกาสได้สัมภาษณ์อาจารย์ปรีดี
หงษ์สต้น ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ สนทนากันตามชื่อหนังสือและย้อนมองกลับมาที่สังคมไทย
เผื่อใครอยากฟังความเห็นของอาจารย์ปรีดีเพิ่มเติม บอกไว้ก่อนว่ายาวมาก)
รายงานบทสัมภาษณ์ 'ปรีดี หงศ์สต้น' มองประวัติศาสตร์และพุทธศาสนาที่นำไปสู่สงครามกลางเมืองศรีลังกา
การเมืองและผลประโยชน์ในคณะสงฆ์กลุ่มต่างๆ การใช้ศาสนาพุทธเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อหาเสียงซึ่งเท่ากับปล่อยยักษ์ออกจากตะเกียงและไม่อาจควบคุมได้
และบทเรียนทางประวัติศาสตร์นี้ไทยควรเรียนรู้อะไร
-ความสัมพันธ์และโครงสร้างทางสังคมของศรีลังกาสมัยใหม่เป็นมรดกตกทอดจากยุคอาณานิคม
ขณะที่คณะสงฆ์กลุ่มต่างๆ ต่างก็เล่นการเมืองโดยใช้อาณานิคมอังกฤษเป็นเครื่องมือเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน
-ช่วงทศวรรษที่ 1920-1930 พระสงฆ์ศรีลังกายังเปิดกว้างรับแนวคิดของฝ่ายซ้ายเพื่อช่วยคนยากคนจน
ก่อนที่จะถูกพลังอนุรักษ์นิยมของเหล่ากระฎุมพีสิงหลท้าทาย
-โซโลมอน บันดราไนยเกแห่งพรรคเสรีศรีลังกาใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือในการหาเสียง
อัตลักษณ์ความเป็นพุทธและความเป็นสิงหลจึงยิ่งแนบแน่นขึ้น ผู้ที่ไม่ใช่พุทธสิงหลจึงถูกกันออกจากพื้นที่ทางการเมืองจนนำไปสู่สงครามกลางเมือง
-พุทธจัดมีลักษณะ 3 ประการคือการให้ความสำคัญกับชาวพุทธสิงหล
เป็นวาทกรรมของกระฎุมพีสิงหล และเพิกเฉยและสนับสนุนการใช้ความรุนแรง
-การผูกขาดสันติภาพของพุทธศาสนาเป็นอันตรายและการสร้างพื้นที่ให้คนกลุ่มต่างๆ
ได้ส่งเสียง
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ อาจใช่และไม่ใช่
ศาสนาคงเหมือนสิ่งอื่นๆ ในโลกใบนี้ มันขึ้นกับว่ามนุษย์จะนำมันไปใช้อย่างไร
บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้บอกเล่าถึงสงครามกลางเมืองศรีลังการะหว่างชาวสิงหลและกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม
ในส่วนของชาวสิงหล เราจำเป็นต้องเติมคำคุณศัพท์เพิ่มเข้าไปว่า ชาวพุทธสิงหล เพราะความเป็นพุทธถูกทำให้เป็นสิ่งเดียวกับความเป็นสิงหล
ผู้ที่เป็นศัตรูกับชาวสิงหลย่อมเป็นศัตรูกับศาสนาพุทธและผู้ที่เป็นศัตรูกับศาสนาพุทธก็ย่อมเป็นศัตรูของชาวสิงหล
ปรีดี หงศ์สต้น นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์
ผู้ทำการศึกษาวิจัยสงครามกลางเมืองศรีลังกา ย้อนอดีตกลับไปยังสมัยอาณานิคมที่ส่งผลต่อความเป็นศรีลังกาในภายหลัง
ศาสนาพุทธที่เคยยืนข้างคนยากคนจน ก่อนจะแปรเปลี่ยนเป็นเครื่องสนับสนุนความชอบธรรมในการทำสงคราม
พุทธจัด (extreme Buddhism) และการเคลื่อนผ่านศัตรูจากศาสนาหนึ่งสู่อีกศาสนาหนึ่ง
แม้ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์จะแตกต่างกับไทย
ทว่า ความเหมือนคือการที่ความเป็นพุทธกับความเป็นไทยกลายเป็นสิ่งเดียวกัน คำถามมีอยู่ว่าเส้นทางสังคมของไทยจะซ้ำรอยประวัติศาสตร์ศรีลังกาหรือไม่
คำตอบที่คาดหวังคือ ไม่
การเมืองในคณะสงฆ์ศรีลังกา
ปรีดีเริ่มอธิบายว่าความสัมพันธ์และโครงสร้างทางสังคมของศรีลังกาสมัยใหม่
ส่วนหนึ่งเป็นมรดกตกทอดจากยุคอาณานิคมของอังกฤษ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาและคณะสงฆ์
เมื่อถึงวันที่มีการลุกขึ้นของชนชั้นนำท้องถิ่นเพื่อต่อต้านอาณานิคมอังกฤษ คนเหล่านี้ก็คือชนชั้นเป็นกระฎุมพีกลุ่มหนึ่งที่ใช้พุทธศาสนาในการต่อต้านอังกฤษ
เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้จึงไม่ใช่เป็นตัวแทนของคนยากคนจนศรีลังกา ขบวนการชาตินิยมศรีลังกาไม่จำเป็นต้องเป็นขบวนการของทุกคน
อาจเป็นเพียงขบวนการเฉพาะกระฎุมพีศรีลังกาบางกลุ่ม
ขณะเดียวกัน ชนชั้นนำเหล่านี้ก็เคยเป็นผู้ที่ทำงานกับเจ้าอาณานิคม
แม้จะมีขบวนการชาตินิยมเกิดขึ้น แต่คนกลุ่มนี้ก็ยังประนีประนอมกับอังกฤษเพื่อให้ทรัพยากรที่อยู่ในมืออังกฤษถ่ายโอนมาที่ตน
ซึ่งเป็นไปค่อนข้างราบรื่น ทำให้ศรีลังกาเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสมัยใหม่หลังได้รับเอกราชแล้วด้วยโครงสร้างการกระจุกตัวของทรัพยากร
การจัดลำดับความสำคัญทางชนชั้นวรรณะที่ตกทอดมาตั้งแต่ยุคอาณานิคมอังกฤษ
“ในช่วงอาณานิคมมีจุดแยกจุดหนึ่งที่แบ่งพระสงฆ์ที่ราบสูงกับพระสงฆ์ในที่ราบลุ่ม
พระสงฆ์ในที่ราบสูงเป็นเหมือนชนชั้นนำเก่าที่อยู่บนที่ราบสูงแคนดี้ ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาของศรีลังกา
กับพระสงฆ์ที่ราบลุ่มที่อยู่บริเวณชายฝั่งเมืองโคลัมโบ 2 กลุ่มนี้ก็ถือเป็น 2 กลุ่มที่แยกกัน
อย่างน้อยไม่เป็นเนื้อเดียวกันเสียทีเดียว เพราะว่าพระสงฆ์กลุ่มใหญ่กลุ่มนี้มีศักดิ์และสิทธิ์ในการเป็นอุปัชฌาย์
ถ้าจะบวช คุณก็ต้องไปบวชกับสงฆ์ที่มาจากสยามนิกาย ในยุคอาณานิคมอังกฤษ พระสงฆ์กลุ่มสยามนิกายมีความเข้มแข็งทางด้านอำนาจมาก
ด้านหนึ่งที่สำคัญคือวัดของพระสงฆ์กลุ่มสยามนิกายมีที่ดินจำนวนมาก
“ตอนอังกฤษเข้ามาแรกสุดพยายามที่จะปฏิรูประบบที่ดินของวัดเพื่อเอาที่ดินวัดมาเป็นของอังกฤษ
ปรากฏว่าทะเลาะกัน พระลุกขึ้นต่อต้าน ในประวัติศาสตร์นิพนธ์จะบอกว่าการต่อต้านนี้เป็นการต่อต้านชาตินิยม
ในด้านหนึ่งอาจจะถูกก็ได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งเราอาจจะอธิบายได้ว่าคือการพยายามทวงคืนทรัพย์สินและผลประโยชน์ของวัดก่อนที่อังกฤษจะเข้ามา
จนในที่สุดอังกฤษต้องปล่อยระบบนี้ให้พระสงฆ์เป็นผู้จัดการเรื่องที่ดินเอง เพื่อลดความตึงเครียดลงไป
เพราะฉะนั้นช่วงแรกๆ ที่ดูเหมือนพระสยามนิกายลุกขึ้นต่อต้านในด้านหนึ่งอาจจะใช่แต่ในอีกด้านหนึ่งถ้าเรามองให้เห็นความสัมพันธ์ของประวัติศาสตร์ทางการผลิตก็จะเห็นว่า
พระเองก็มีที่ดินมาก พูดง่ายๆ คือวัดเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตแบบศักดินา คือใครจะปลูกข้าวปลูกอะไรก็เอาไปทำบุญกับวัด
ทำบุญในความหมายนี้คือการให้ผลผลิตส่วนเกินกับวัด เพราะฉะนั้นวัดก็เป็นส่วนหนึ่งในความสัมพันธ์ทางการผลิต"
เห็นได้ว่าอำนาจของพระสยามนิกายถูกท้าทายจากอังกฤษ
อีกด้านหนึ่ง อังกฤษก็เข้าหาพระสงฆ์ในบริเวณที่ราบลุ่มเพื่อต่อรองกับพระสยามนิกาย ทำให้เกิดการรวมกลุ่มใหม่ก็คืออมรปุระนิกายซึ่งเป็นพระสงฆ์กลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถไต่เต้าทางสมณศักดิ์ได้
เพราะถูกพระสยามนิกายควบคุมไว้ พอเจ้าอาณานิคมอังกฤษเข้ามาทำให้พระกลุ่มอมรปุระนิกายไต่เต้าทางสมณะศักดิ์ได้
พระกลุ่มนี้จึงยินดีหรืออย่างน้อยก็ไม่ต่อต้านเท่ากับพระสงฆ์กลุ่มสยามนิกาย
นอกจากนี้ พิธีอุปสมบทก็เริ่มถ่ายโอนจากแคนดี้ลงมาที่ราบลุ่มโดยเฉพาะที่วัดเกลานียา
ศูนย์กลางอำนาจค่อยๆ ขยับลงมาทางตะวันตกเฉียงใต้และขยายออกมาจากพระสยามนิกายซึ่งส่วนใหญ่สังกัดวรรณะโคยิคามะ
เป็นวรรณะที่สูงที่สุด มีอิทธิพลที่สุด และเป็นประชาชนส่วนใหญ่ในวรรณะนี้เป็นเจ้าที่ดินและสะสมความมั่งคั่งมาตั้งแต่ยุคโปรตุเกสและดัชท์
ดังนั้น อำนาจที่เคยกระจุกกับสยามนิกายและวรรณะโคมิยามะก็ค่อยๆกระจายออกไปสู่ระบบความสัมพันธ์ที่ไม่ได้วางอยู่บนวรรณะตายตัว
แต่เปลี่ยนมาสู่ระบบความสัมพันธ์กับอาณานิคมอังกฤษ
ถึงกระนั้น พระสงฆ์กลุ่มสยามนิกายยังเป็นพระสงฆ์กลุ่มใหญ่สุด
เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับทั้งระบบสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ก่อนสมัยอังกฤษและมีความสัมพันธ์กับอังกฤษในความหมายว่าผู้ที่ไปผูกสัมพันธ์กับอังกฤษก็มีวรรณะโคยิคามะซึ่งเป็นผู้สนับสนุนคณะสงฆ์สยามนิกาย
ในแง่หนึ่ง กล่าวได้ว่าต่างก็ใช้ประโยชน์จากอังกฤษ
“ในแง่หนึ่งก็ประสบความสำเร็จที่ทำให้กลุ่มที่เคยคุมอำนาจถูกท้าทายมากขึ้น
ขณะเดียวกันกลุ่มเหล่านี้ก็รู้ว่าตนเองมีผลประโยชน์กับฝั่งอังกฤษเพราะอังกฤษนำมาซึ่งการขยายตัวทางการค้า
ทำให้กลุ่มพระสงฆ์เหล่านี้ โยมอุปัฏฐาก และชนชั้นนำกระฎุมพีทั้งหลาย สนับสนุนการขยายตัวหรือการครองอำนาจของพระโดยเฉพาะวรรณะโคยิคามะและสยามนิกาย”
พุทธที่ช่วยปลดปล่อยคนจนซึ่งจบลงเพียงไม่นาน
ศาสนาพุทธมีอิทธิสูงมากในสังคมการเมืองศรีลังกา
ปรีดีเล่าว่ามีนักวิชาการเสนอว่าการที่ศาสนาพุทธเป็นอัตลักษณ์ที่เข้มแข็งนี้เพราะอังกฤษมาทำให้เกิดขึ้น
ขณะเดียวกันชาวศรีลังกาก็ใช้ความเป็นพุทธของตนเองเพื่อแยกออกจากอาณานิคมของคนขาว รวมไปถึงการเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ของมิชชันนารีและการท้าทายเรื่องที่ดินของพระสงฆ์สยามนิกาย
ทั้งที่ก่อนหน้านี้เส้นแบ่งความเป็นพุทธและไม่พุทธไม่ชัดถึงขนาดนี้ นอกจากนี้ ชาวตะวันตกเองก็มีส่วนต่อความเป็นพุทธของชาวศรีลังกาด้วย
“ชาวตะวันตกที่เข้ามาศึกษาพุทธศาสนาที่วางอยู่บนภาษาบาลี
ซึ่งส่งผลให้ชาวพุทธศรีลังกาตระหนักถึงความเป็นพุทธของตนเองมากขึ้นไปอีก การเข้าไปศึกษาตัวบทของพระไตรปิฎกเป็นวิธีคิดแบบคริสต์ศาสนาซึ่งสิ่งต่างๆ
วางอยู่บนตัวบท เขาก็จะเข้าใจพุทธศาสนาเป็นหนึ่งในศาสนาเปรียบเทียบ ว่าความจริงอันสูงสุดของพุทธศาสนาเถรวาทต้องวางอยู่บนพระไตรปิฎกจึงไปศึกษาพระไตรปิฎก
เมื่อศึกษาพระไตรปิฎก แปล ตีความนักวิชาการหรือพระส่วนหนึ่งก็ใช้เอกสารนี้บอกว่านี่คือพุทธศาสนาลังกาของเรา
มีการแปลคัมภีร์มหาวงศ์ ชาวศรีลังกาเองก็ตระหนักรู้อัตลักษณ์ความเป็นพุทธของตนเองผ่านการเติบโตของการศึกษาพุทธศาสนาในยุโรป”
แต่พุทธศาสนาของชาวศรีลังการก็ไม่ได้เป็นแบบนี้มาตั้งแต่ต้น
ปรีดีเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงในช่วงทศวรรษ 1920 และ 1930 โดยมีหมุดหมายตั้งแต่การปฏิวัติบอลเชวิคในปี
1917 (ในรัสเซีย) พุทธศาสนาศรีลังกาในช่วงนั้นมีการประสานความคิดเพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น
พระสงฆ์ได้กลายเป็นหนึ่งในพลังของสังคม รวมทั้งนักการเมือง สหภาพ ผู้แทนชาวนาชาวไร่
เกิดเป็นพันธมิตรระหว่างพระสงฆ์และผู้ที่มีอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย
ทั้งนี้เนื่องจากผู้ชายศรีลังกาจะไต่เต้าทางสังคมหรือจะเรียนได้
จำเป็นต้องบวชเพราะมีฐานะยากจน ด้วยเหตุที่พระสงฆ์ส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากคนยากจนในชนบททำให้มีความเข้าใจชาวบ้านและแรงงาน
พระสงฆ์เหล่านี้จึงมีบทบาทในการเชื่อมชาวนาในชนบทกับสหภาพแรงงานในโคลัมโบเข้าด้วยกัน
กล่าวได้ว่าพระเหล่านี้มีบทบาทเชื่อมโยงกับชาวบ้านมากกว่านักการเมืองและนักเคลื่อนไหวในเมืองในช่วงเวลานั้นด้วยซ้ำ
เพราะฉะนั้นทั้งสองพลังที่เกิดขึ้นคือพุทธศาสนาไม่ได้ปิดกั้นความคิดสังคมนิยมฝ่ายซ้ายและทำงานร่วมกันได้
ทำให้การเคลื่อนไหวของพระสงฆ์กับการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายเช่นพรรคการเมืองลังกาสมาสมาช
(Lanka Sama Samaja Party)เป็นไปอย่างสมานฉันท์พอสมควร ซึ่งเป็นภาพที่ดูขัดกับพุทธแบบชาตินิยมค่อนข้างมาก
ทว่า พันธมิตรดังกล่าวก็ถูกท้าทายด้วยพลังกลุ่มอนุรักษ์นิยมของเหล่ากระฎุมพีสิงหล
ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุนนายโซโลมอน บันดาราไนยเก ในช่วงปี 1930
‘วาระพุทธ’ เมื่อยักษ์ถูกปล่อยออกจากตะเกียง
“ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นว่าคนยึดโยงกับความเป็นพุทธของตนเองมากและต่อต้านคนที่ไม่ใช่พุทธมากขึ้น
ที่สำคัญคือในช่วงพุทธชยันตี 1950 เป็นช่วงที่มีความขัดแย้งเกิดขึ้นจนเป็นสงครามกลางเมือง”
จุดเปลี่ยนที่สำคัญมาจากระดับโลกและจากภายในศรีลังกาเอง
เมื่อพรรคการเมืองแรกที่ตั้งขึ้นมาคือพรรคชาติสามัคคีหรือยูเอ็นพี (United National Party: UNP) เป็นพรรคที่ผู้นำและสมาชิกพรรคมีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับเจ้าอาณานิคมอังกฤษมาก่อน
ปัญหาคือกลุ่มเหล่านี้ยึดกุมทรัพยากรอำนาจไว้มากโดยไม่มีใครท้าทายจนกระทั่งในช่วง
1950 เมื่อศรีลังกาได้รับเอกราช พรรคยูเอ็นพีก็ถูกท้าทายจาก พรรคเสรีศรีลังกา (Sri
Lanka Free Party) และเพื่อคะแนนเสียงทางการเมือง พรรคเสรีนิยมศรีลังกาจึงใช้ประเด็นทางพุทธศาสนาเข้าไปท้าทายพรรคยูเอ็นพี
พรรคเสรีศรีลังกานำโดยนายโซโลมอน บันดาราไนยเก สร้างพันธมิตรในชื่อมหาชนเอกสัทเปรามุนา
ซึ่งเป็นการรวมกันระหว่างกลุ่มเสรีนิยม ซ้าย และซ้ายกึ่งเสรีนิยม เพื่อต่อต้านพรรคยูเอ็นพีที่เป็นอนุรักษ์นิยมและนายทุน
“ปัญหาก็คือว่าพรรคเสรีศรีลังกาใช้ประเด็นเรื่องพุทธศาสนาโดยเฉพาะในช่วง
1950 ซึ่งเป็นช่วงพุทธชยันตีหรือกึ่งพุทธกาลซึ่งในโลกเถรวาทก็มีคตินี้ร่วมกัน ในช่วงนี้มีพลัง
2 พลัง ด้านหนึ่งมันแย้งกันไปด้วยในตัว ปี 1956 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงทางรากฐานในหลายแง่
เช่นการบูรณะฟื้นฟูพุทธศาสนาให้กลับเป็นยุคก่อนอังกฤษเข้ามา มีลักษณะโหยหาอดีต มีการผลักดันให้เปลี่ยนภาษาทางการจากภาษาอังกฤษให้เป็นภาษาสิงหล
และเริ่มทำให้พุทธเด่นขึ้นมาเป็นอัตลักษณ์แห่งชาติ โดยผู้ที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวเหล่านี้ก็เป็นพระสงฆ์และองค์กรพุทธ
และคนเหล่านี้ก็สนับสนุนพรรคเสรีศรีลังกา เพื่อที่จะยึดอำนาจที่เคยเป็นของอังกฤษ ชนชั้นนำท้องถิ่น
หรือพรรคยูเอ็นพีมาเป็นของตน จึงใช้พุทธศาสนาในการโจมตี ก็เร่งตัวเองให้เป็นพุทธมากขึ้นและเร่งให้คนอื่นหรือพรรคยูเอ็นพีไม่ใช่พุทธมากขึ้น
การทำแบบนี้ได้ 2 ทางคือด้านหนึ่งทำให้ศาสนาพุทธคึกคัก แต่อีกด้านหนึ่งกลายเป็นว่าทำให้พุทธเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการแสดงตนออกมาในสังคมของชาวสิงหล”
ประเด็นสำคัญก็คือในพันธมิตรของพรรคเสรีศรีลังกามีการจับมือกันอย่างหลวมๆ
กับกลุ่มนักการเมืองชาวทมิฬซึ่งอย่างน้อยพรรคเสรีศรีลังกาในช่วงต้นยังมีท่าทีเจรจาหรือพูดคุยกันได้
มีเสียงในสภาที่ยังออกเสียงให้กันและกันได้
พรรคเสรีศรีลังการชนะการเลือกตั้งในปี
1956 เป็นชัยชนะที่มีราคาแพงอย่างไม่น่าเชื่อในเวลาต่อมา เพราะพรรคเสรีศรีลังกาได้ปลดปล่อยพลังในสังคมออกมาที่ตนเองก็ควบคุมไม่ได้
และยังเป็นจุดสิ้นสุดของความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างกลุ่มพระสงฆ์กับพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย
กลุ่มชาวพุทธกระฎุมพีที่สนับสนุนวาระพุทธศาสนาเป็นตัวตั้งเริ่มไม่เอาฝ่ายซ้ายเพราะตนเองก็นายทุน
นายโซโลมอน บันดาราไนยเก จึงวุ่นวายกับการพยายามเจรจากับกลุ่มต่างๆ มากมายในพรรคเสรีศรีลังกา
แต่กลุ่มที่ยึดเอาพุทธศาสนาเป็นแกนหลักกลับไม่ต้องการเจรจากับคนทมิฬและฝ่ายซ้าย โดยขู่ว่าจะถอนเสียงออก
“แต่นายโซโลมอนจะไม่คุยกับกลุ่มทมิฬก็ไม่ได้
เพราะตัวเขาเองก็พยายามดำเนินการทางการเมืองแบบเสรีนิยมในศรีลังกาไว้ จุดเปลี่ยนคือการที่เขาถูกลอบสังหารโดยพระภิกษุ
พอนายโซโลมอนเสียชีวิต มันก็เหมือนเขื่อนแตก กลุ่มที่เป็นพุทธก็เริ่มผลักดันเรื่องพุทธเข้ามาเป็นใจกลางในสภาและผลักกลุ่มอื่นๆ
ฝ่ายซ้ายก็ไม่เอาแล้ว ฝ่ายทมิฬก็ถอย เมื่อทมิฬถอยก็เป็นปัญหา หมายถึงถอยออกจากการมีที่นั่งในสภา
ไม่ส่งตัวแทนเข้าไป เพราะฉะนั้นตั้งแต่ปี
1956 มีการเปลี่ยนแปลงทางพุทธศาสนาในฐานะวิธีปฏิบัติทางศีลธรรมไปสู่ศาสนาในฐานะทุนทางการเมืองและวัฒนธรรม
นั่นหมายความว่าพุทธศาสนาจะกลายเป็นส่วนประกอบสำคัญในความสัมพันธ์ทางสังคมวิทยาตั้งแต่ช่วง
1956 เป็นต้นมา ทำให้กลุ่มอื่นๆ ถูกผลักออกเป็นพลังที่รองลงไป”
เป็นสาเหตุให้ศาสนาพุทธผูกพันกับอัตลักษณ์สิงหลอย่างแนบแน่น
ปัญญาชน นายทุนที่เคยเป็นโยมอุปัฏฐากพระ คนเหล่านี้ต้องการให้พุทธสิงหลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ศรีลังกาควรเป็นประเทศพุทธสิงหล และเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วสงครามกลางเมืองระหว่างพุทธสิงหลกับทมิฬที่ส่วนใหญ่นับถือฮินดูก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
นี่คือที่มาของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม
พุทธจัด (extreme Buddhism)
พลังที่ถูกปลดปล่อยออกมาจนควบคุมไม่ได้ก่อตัวเป็นแนวคิดแบบพุทธจัดในศรีลังกา
ปรีดีอธิบายว่ามีลักษณะ 3 ประการ
“อันแรกคือ ความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองที่มีภาษาสิงหล
ศาสนาพุทธ และวัฒนธรรมพุทธสิงหลเป็นประเด็นนำ ความคิดเหล่านี้มีหลากหลายตั้งแต่การเผยแพร่ความคิดพุทธจัดในคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์
บทความในวารสารวิชาการ การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองบนท้องถนน การอภิปรายในรัฐสภา
การเคลื่อนไหวทางสังคม และการเมืองเหล่านี้แสดงออกชัดเจนโดยมีการเสนอนโยบายที่เรียกว่า
เฉพาะชาวสิงหลเท่านั้น”
ประการที่ 2 ความคิดพุทธจัดเป็นวาทกรรมกระฎุมพี
หมายความว่าตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่กำเนิดมาจากชาวสิงหลวรรณะโคยิคามะซึ่งทำการค้าสะสมทุนกับเจ้าอาณานิคมอังกฤษ
กลุ่มทุนนิยมวานิชเหล่านี้ได้เริ่มสถาปนาคุณค่าทางชนชั้นของตนเองขึ้นมาเพื่อที่จะใช้รักษาสถานะนำของตนเอง
กลุ่มชนชั้นใหม่นี้ได้รับการศึกษาและสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ทำให้สามารถรับความรู้จากตะวันตกผ่านภาษาอังกฤษ
กลุ่มกระฎุมพีของชนชั้นนี้จะมีส่วนร่วมทั้งในการส่งเสริมและต่อต้านวาระแบบพุทธจัด
“พุทธจัดมาจากวงศาวิทยาเดียวกัน เพราะฉะนั้น
2 กลุ่มนี้อยู่ภายใต้วาทกรรมชุดเดียวกัน มีการบอกว่ามีพุทธจัดและโดยนัยบอกว่ามันมีพุทธที่ไม่จัด
แล้วเราอยู่ในโลกที่มีการถกเถียงแบบนี้มันดำรงอยู่ ในปัจจุบันนี้คู่ตรงข้ามมันดูจะเป็น
extreme กับ moderate ซึ่งในสมัย
1920 ถึง 1930 extreme ไม่ได้เป็นสิ่งผิดในตัวมันเอง อย่างนักปฏิวัติไม่สามารถอธิบายว่าเป็นกลางได้แน่ๆ
“แต่ช่วงปี 1970 ถึง 1980 ลงมามันกลายเป็นว่ากลุ่มคนที่
extreme กลุ่มหนึ่งกับกลุ่มคนที่ไม่ extreme ซึ่งกลุ่มหลังเป็นกลุ่มที่ถูกต้องและกลุ่มที่ extreme เป็นกลุ่มที่ผิด ซึ่งผมคิดว่าไม่ว่าเราจะมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไรก็ตามทั้งผู้ที่สนับสนุนและต่อต้านอยู่ในวาทกรรมชุดเดียวกันด้วยว่าด้วยเรื่องการมีและไม่มีพุทธจัด”
ประการที่ 3 คือท่าทีอันเพิกเฉยและสนับสนุนการใช้ความรุนแรง
พุทธจัดมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความรุนแรงในช่วงสงครามกลางเมืองอันยืดเยื้อยาวนาน
“สามประการนี้เป็นส่วนประกอบที่ค่อนข้างจะเกี่ยวข้องกันบ้างหรือว่าหลายๆ
ครั้งมันไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันเสมอไป แต่ทั้งหมดนี้ผมพยายามจะพูดให้ครอบคลุมว่าเราอยู่ในยุคแบบที่เรียกว่าพุทธจัดในศรีลังกาปัจจุบัน”
บทเรียนจากศรีลังกาสู่ไทย
เมื่อนำประสบการณ์ของศรีลังกาย้อนกลับมาไทยก็น่าสนใจว่าพุทธไทยจะเดินตามรอยพุทธจัดในศรีลังกาหรือไม่
เนื่องจากพุทธเถรวาทในไทยก็มีความเชื่อมโยงกับพุทธเถรวาทในศรีลังกาและพม่าโดยเฉพาะพระวีระธูที่เป็นหัวหอกสำคัญในการต่อต้านมุสลิม
ปรีดีคิดว่ามีทั้งความเหมือนและต่าง สิ่งที่ต่างกันแน่นอนคือพัฒนาการทางประวัติศาสตร์
ขณะที่คณะสงฆ์ศรีลังกาผ่านยุคอาณานิคม คณะสงฆ์ไทยไม่ได้มีประสบการณ์นี้ แต่เผชิญกับการรวมศูนย์เข้าสู่ส่วนกลาง
“ผมคิดว่าพระสงฆ์ของศรีลังกาและพม่ามีลักษณะใกล้เคียงกันคือลุกขึ้นต่อต้านรัฐ
แต่ในยุคของพวกเขาคือยุคอาณานิคม ในพม่าต่อต้านทั้งอาณานิคมและต่อต้านรัฐบาล แต่เราจะนึกไม่ออกในกรณีของคณะสงฆ์ไทย
เพราะว่าพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ไทยคือการรวมศูนย์และถึงแม้จะมีกลุ่มที่ต่อต้านรัฐอยู่บ้าง
แต่พัฒนาการของคณะสงฆ์ไทยทำให้เราไม่เห็นภาพการลุกฮือขนาดใหญ่ของพระสงฆ์เพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ
แต่มีลักษณะเป็นเนื้อเดียวกับรัฐไทยสมัยใหม่อย่างแนบแน่น”
ขณะนี้ศัตรูของพุทธจัดในศรีลังกาก็เปลี่ยนจากศาสนาคริสต์เป็นศาสนาอิสลาม
ปรีดีอธิบายว่าในศรีลังกาความขัดแย้งระหว่างพุทธกับอิสลามไม่ได้มีบริบททางประวัติศาสตร์
แต่มันถูกสร้างขึ้น ซึ่งมีอิทธิพลจากเหตุการณ์ 9/11 และการเชื่อมโยงทางความคิดผ่านโซเชียลมีเดียด้วย
เขาคิดว่าในระดับหมู่บ้านที่มีผู้คนหลากหลายศาสนาอยู่ร่วมกัน ความรุนแรงจะเกิดขึ้นได้ต้องมีการกระพือโหมความเกลียดชัง
แต่โดยรวมแล้วการต่อต้านคนศาสนาอื่นเป็นวาทกรรมกระฎุมพี แต่โดยหัวใจของมันเขาคิดว่านี่เป็นปัญหาทางชนชั้น
ไม่ใช่ปัญหาทางศาสนา
“ผมคิดว่าปัญหาที่ผมสนใจอยู่ที่พุทธที่เป็นคนจนกับพุทธที่เป็นคนรวยจะเป็นคนละพุทธกันเลย
กลายเป็นว่าพุทธศาสนาสมัยใหม่หรือที่เราใช้อธิบายโลกหรือโฆษณามันทำให้คนจนหรือรวยกลายเป็นคนพุทธด้วยกันทั้งที่คนจนพุทธกับคนรวยพุทธเป็นคนละโลกกันอย่างสิ้นเชิง
หมายความว่ากลุ่มนี้ก็มีความขัดแย้งกันแต่กลายเป็นว่าอัตลักษณ์พุทธมีความครอบคลุม ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันไปโดยปริยาย
ซึ่งตรงนี้อาจเป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณาใหม่ ขณะเดียวกันคนพุทธจนกับคนมุสลิมจนมีความทุกข์กับชีวิตเหมือนกัน
แต่กลายเป็นว่าคนพุทธจนกับคนมุสลิมจนต้องมาตีกัน”
เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ไทยจะเกิดแนวคิดแบบพุทธจัด
ปรีดีตอบว่าเป็นไปได้ แต่ต้นตอความรุนแรงที่แท้จริงไม่ใช่ไม่ได้เกิดขึ้นในนามศาสนา
แต่ในนามของสิ่งอื่นๆ ความขัดแย้ง ความไม่เท่าเทียมทางการเข้าถึงทรัพยากร ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ
ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างชนบทกับเมือง และอื่นๆ การเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นพุทธจัดหรือ
extreme อื่นๆ ไม่ใช่ปัญหาเรื่องศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา
เพราะศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคน
“ถามว่าไทยจะเป็นพุทธจัดไหม ถ้าให้ตอบก็ไม่อยากให้เป็น
แต่เมื่อเป็นแล้วจะทำอย่างไรให้พอเข้าใจประเด็นเหล่านี้ เพื่อจะบอกว่า เวลาคนคนหนึ่งลุกขึ้นทำร้ายอีกคนหนึ่ง
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่เขาเป็นชาวพุทธหรือไม่ใช่ชาวพุทธก็ได้ ยังมีประเด็นอื่นๆ อีกมากมายที่ส่งผลต่อการกระทำนั้นๆ”
การผูกขาดสันติภาพและการสร้างพื้นที่ให้ส่งเสียง
ปรีดียังตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจต่อศาสนาพุทธและการผูกขาดสันติภาพว่า
“ผมคิดว่าการต่อต้านมุสลิมไม่ได้เป็นสิ่งที่มีที่มาจากสังคมใดสังคมหนึ่ง
ชาวมุสลิมเหมือนเป็นภาพแทนของความรุนแรงเพราะว่าชาวพุทธไปผูกขาดสันติภาพ คล้ายๆ ว่าศาสนาพุทธจะต้องไม่รุนแรง
ต้องสันติ แม้ว่าผู้พูดจะมีความประสงค์ดีอย่างไรก็ตามว่าแก่นของพระพุทธศาสนาจะต้องไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตต้องไม่รุนแรง
ขณะเดียวกันก็พยายามผูกขาดสันติภาพซึ่งมันมีความอันตรายเหมือนกัน เพราะกลายเป็นว่ามันทำให้คนอื่นเป็นตัวแทนของความรุนแรงได้
“ในทางประวัติศาสตร์เราก็เห็น แต่พอเป็นเรื่องระดับวาทกรรม
ซึ่งกระบวนการนี้ไม่ได้เป็นกระบวนการที่ถูกกระทำขึ้น เฉพาะโลกพุทธเถรวาทอย่างไทย ศรีลังกา
พม่า แต่การที่พุทธเป็นศาสนาแห่งสันติภาพมันถูกกระทำขึ้นในโลกตะวันตกด้วย เช่นเราจะเห็นชาวอเมริกันที่ตกตะลึงว่าทำไมพุทธรุนแรง
คำถามแบบนี้เป็นคำถามที่มีจุดตั้งต้นว่าพุทธควรเป็นศาสนาที่ไม่รุนแรง เรื่องความรุนแรงดีหรือไม่ดีเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่การเห็นว่าพุทธซึ่งผสมผสานการเคลื่อนไหวแบบคานธีอย่างแนบแน่น การทำให้พุทธผูกขาดสันติภาพในทางหนึ่งมันส่งผลโดยที่อาจไม่ตั้งใจก็ตามแก่ผู้ที่ไม่ใช่พุทธไปด้วยในเวลาเดียวกัน
กลายเป็นว่าผู้ที่ไม่ใช่พุทธก็คงจะรุนแรงได้ มันก็จะไปสู่ระดับที่ทำให้พอมีความรุนแรงปุ๊บก็บอกว่าไม่ใช่พุทธแท้ขึ้นมา
การผูกขาดสันติภาพอาจมีประโยชน์แต่ก็มีอันตรายด้วยเช่นเดียวกัน”
ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าเราจะทำอย่างไรไม่ให้ความรุนแรงปะทุขึ้นโดยศาสนาถูกนำมาเป็นเชื้อไฟ
ปรีดีตอบผ่านกรณีศรีลังกาว่า
“ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม จะขึ้น จะลง จะรุนแรง
จะสันติ ในศรีลังกาตลอดช่วงอาณานิคมจนถึงได้รับเอกราช ศรีลังกาไม่เคยถอยออกจากระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเลย
ตั้งแต่ได้รับเอกราชศรีลังกาพยายามอย่างยิ่งที่จะใช้กลไกของระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาในการแก้ไขความขัดแย้ง
จะดี จะชั่ว จะสำเร็จ จะล้มเหลวอย่างไรก็ตาม แต่เมื่อตัวแทนกลุ่มต่างๆ ไม่มีความสมดุลในสภาก็เกิดความเคลื่อนมวลชนไหวนอกรัฐสภา
จนเกิดกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมในกรณีศรีลังกา ถ้าคุณยังมีพื้นที่ให้คนที่ไม่ได้เป็นพุทธอยู่
มันอาจไม่เป็นถึงขนาดนี้ก็ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ถ้ารัฐสภาไม่ได้ยึดโยงกับคนที่เป็นชาวบ้านร้านช่อง
มันก็เกิดได้แน่นอนเพราะคนไม่มีพื้นที่ที่จะส่งเสียงความทุกข์ของพวกเขาออกมา
“แม้กระทั่งในศรีลังกาเอง เมื่อรัฐสภาไม่ฟังก์ชั่น
มันก็ผลักให้ชนกลุ่มน้อยออกไป ปัญหาก็เกิดขึ้นในแง่นี้ แม้ว่ากลไกรัฐสภาจะมีข้อจำกัดอย่างยิ่งในหลายๆ
อย่าง แต่ขณะเดียวกันเราไม่แน่ใจว่าในสังคมไทยได้ลองใช้ระบบรัฐสภาอย่างจริงๆ จังๆ แล้วหรือยัง
ดังนั้น โอกาสที่จะนำไปสู่ความรุนแรงโดยใช้ศาสนาเป็นข้ออ้าง ถ้ามันไม่มีช่องทางในการแสดงออกถึงความทุกข์ของตนเองไม่ว่าจะพุทธหรือไม่พุทธก็ตามก็มีความขัดแย้งแน่”
ลิงค์ข่าวบทสัมภาษณ์ ปรีดี หงษ์สต้น: พุทธจัดในสงครามกลางเมืองศรีลังกาและพุทธไทยที่ยังไม่จัดh
ลิงค์รีวิวหนังสือสงครามกลางเมืองศรีลังกา
-พุทธจัดในศรีลังกาและการฆ่าในนามของศาสนา-
เครดิตภาพโดย ประชาไท
เครดิตภาพโดย ประชาไท
ความคิดเห็น